พายุหมุนเขตร้อน

        พายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm)​  คือคำทั่วๆไปที่ใช้สำหรับเรียกพายุหมุนขนาดใหญ่ที่เกิดเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดหลายร้อยกิโลเมตร สามารถปกคลุมประเทศไทยได้ทั้งประเทศ เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก มีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางเดียวกับเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุดบางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางบางครั้งต่ำกว่า 900 เฮกโตปาสคาล (hPa) มีลักษณะอากาศร้ายเกิดขึ้น มีฝนตกหนักมากและมีพายุฟ้าคะนอง ทำให้เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเล และน้ำขึ้นสูง ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม มองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเรียกว่า "ตาพายุ" ดังในภาพที่ 1  เส้นผ่าศูนย์กลางตาพายุมีขนาดประมาณ 15 - 60 กิโลเมตร  ภายในตาพายุมีอากาศแจ่มใส ลมพัดอ่อน มีเมฆบ้างเล็กน้อย 

ภาพที่ 1 พายุไต้ฝุ่น "พาร์มา" และ "เมเลอร์" เหนือประเทศฟิลิปปินส์

        พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (Hurricane)  ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียกว่า "ไต้ฝุ่น"  (Typhoon)  ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า "ไซโคลน" (Cyclone) ดังแผนที่ในภาพที่ 2   แต่บางครั้งก็เรียกพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า "วิลลี่-วิลลี่" (Willy-Willy) 

ภาพที่ 2 การเรียกชื่อพายุหมุนเชตร้อน 

(ที่มา: LEARN NC)

        พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย มีการแบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้

        พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวขึ้นกลางมหาสมุทร เนื่องจากน้ำบนมหาสมุทรได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็จะระเหยขึ้นเป็นไอน้ำแล้วควบแน่นเป็นเมฆก่อตัวแนวดิ่งจำนวนมากแล้วรวมตัวเป็นพายุ แรงโคริออริสซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้พายุหมุนตัวเป็นรูปกังหัน พายุจะเคลื่อนที่ไปตามแนวความกดอากาศต่ำ (L) เนื่องจากในอากาศร้อนชื้่นมีไอน้ำอยู่เป็นจำนวนมากเป็นตัวหล่อเลี้ยงพายุ แต่เมื่อพายุเคลื่อนตัวขึ้นบนแผ่นดินก็สลายตัวไป เนื่องจากไม่มีไอน้ำในอากาศมาหล่อเลี้ยงพายุได้เพียงพอ  ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นโครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อนในซีกโลกเหนือ ประกอบด้วยเกลียวแขนของเมฆคิวมูโลนิมบัสซึ่งเป็นเมฆที่ก่อตัวแนวตั้งจนกลายเป็นเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง หมุนรอบศูนย์กลางในทิศทวนเข็มนาฬิกา ทำให้เกิดแถบฝน (Rainbands) ที่ศูนย์กลางของพายุเรียกว่า "ตาพายุ" (Eye) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งท้องฟ้าใสไร้เมฆ  กำแพงของตาพายุ (Eyewall) เป็นเมฆรูปวงกลมขนาดใหญ่ยกตัวในแนวดิ่งและมียอดแผ่ออกทางข้างเป็นเมฆเซอรัสซึ่งหนาทึบ (Dense Cirrus Overcast) ปกคลุมวงแหวนของเซลล์เมฆพายุฝนฟ้าคะนองที่อยู่ด้านล่าง  

ภาพที่ 3 โครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อน 

ที่มา: NOAA JetStream

        ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน ด้านตะวันออกคือมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ส่วนด้านตะวันตกคือมหาสมุทรอินเดีย พายุมีโอกาสเคลื่อนจากทางด้านตะวันออกมากกว่าทางตะวันตก ปกติประเทศไทยจะมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3 - 4 ลูกต่อปี  ต้นปีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมเป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ  พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (ดูภาพที่ 4 ประกอบ) โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพายุที่เคลื่อนมาจากด้านตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน และตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พายุส่วนใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก โดยช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พายุยังคงเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ซึ่งบริเวณตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมมีสถิติเคลื่อนเข้ามามากที่สุดในรอบปี  และในช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนพายุจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ แต่ในภาคอื่นๆ จะกลายเป็นฤดูหนาว ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน นำความหนาวเย็นลงมา ระบบอากาศในช่วงนี้จึงไม่เอื้อให้เกิดพายุขึ้นเหนือทะเล 

ภาพที่ 4 แผนที่ทางเดินของพายุ 

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา