การทำลายป่าฝนเขตร้อน

        สิ่งมีชีวิตทุกชนิดและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน นับตั้งแต่จุลชีพขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์ใหญ่เช่น มนุษย์ ถ้าสปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งสูญพันธุ์ไป ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสปีชีส์อื่นด้วย เช่น ถ้ามนุษย์ทำให้นกเงือกสูญพันธุ์ พืชพันธุ์บางชนิดในป่าก็อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย เนื่องจากขาดตัวกลางซึ่งทำหน้าที่นำเมล็ดไปแพร่พันธุ์ เมื่อพืชบางชนิดสูญพันธุ์ ปริมาณออกซิเจนในอากาศก็เปลี่ยนแปลงไป   การสูญพันธุ์ของพืชสมุนไพรบางชนิดนำมาซึ่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์รวมทั้งระบบนิเวศ เป็นต้น 

ภาพที่ 1 โครงสร้างของป่าฝน

        ป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain forest) คือป่าที่มีปริมาณฝนตกอย่างน้อยปีละ 250 เซนติเมตร เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีต้นไม้ปกคลุมในหลายระดับ นับตั้งแต่พืชคลุมดิน ไม้พุ่ม เถาวัลย์ ไม้เรือนยอด และไม้ใหญ่โดยมีความสูงเฉลี่ย 45 - 60 เมตรดังภาพที่ 1   ป่าฝนมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก  ร้อยละ 70 – 90 ของทุกสปีชีส์บนพื้นผิวโลกอยู่ในป่าเขตนี้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งผลิตแก๊สออกซิเจนที่สำคัญที่สุดของโลก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันป่าฝนเขตร้อนมีพื้นที่เหลืออยู่เพียง 6% ของพื้นผิวโลก และกำลังถูกบุกรุกทำลายอย่างรวดเร็ว ป่าฝนส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ได้แก่ ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังแผนที่ในภาพที่ 2

ป่าฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคใต้ ป่าฝนที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยคือ ป่าฮาลา-บาลาที่พรมแดนไทย-มาเลเซีย ดังภาพที่ 3

ภาพที่ 2 พื้นที่ป่าฝนเขตร้อน

 

        ป่าเปรียบเสมือนบ้านของเรา บรรพบุรุษของมนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทลิง (Primates) อุบัติขึ้นในป่าฝนเขตร้อนเมื่อประมาณ 50 ล้านปีที่แล้ว   ป่าเป็นทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร เราได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ป่าไม่ได้ให้เพียงแค่ชีวิตแต่ยังให้คุณภาพของชีวิตอีกด้วย  ร้อยละ 25 ของสมุนไพรซึ่งเป็นยารักษาโรคได้มาจากป่า  ป่าฝนเขตร้อนเปรียบเสมือนปอดของโลก ป่าทำหน้าที่ตรึงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะในอากาศไว้ในดิน  ลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกและเพิ่มปริมาณแก๊สออกซิเจน  ต้นไม้ดูดซับความชื้นตรึงน้ำไว้บนพื้นผิวทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์  เมื่อพืชคายน้ำทำให้อากาศมีความชื้นและเกิดเมฆ เมื่อฝนตกรากไม้ช่วยดูดซับน้ำในดินมิให้เกิดน้ำท่วม และยึดเกาะเม็ดดินให้ติดกันเป็นกลุ่มก้อนมิให้ถล่มทะลาย

ภาพที่ 3 ป่าฮาลา-บาลา

การลดความหลากหลายทางชีวภาพ

        นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ร้อยละ 70 - 90 ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวโลกอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อน การตัดไม้ทำลายป่าทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปประมาณ 50 – 100 สายพันธุ์ในแต่ละวัน พื้นที่ป่าฝน 1 ตารางกิโลเมตรครั้งหนึ่งเคยมีพืชพันธุ์ เห็ดรา และสัตว์อยู่หลายร้อยสายพันธุ์ ปัจจุบันกลายเป็นแปลงเกษตรซึ่งมีพันธุ์ไม้อยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์  เช่น อ้อย ข้าวโพด สับปะรด มันสำปะหลัง การทำลายพืชพรรณอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะทำให้มนุษย์ขาดแคลนยารักษาโรคในอนาคต เนื่องจากร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์ยาได้มาจากป่าฝนเขตร้อน นอกจากนั้นการหักล้างถางป่ายังส่งผลกระทบต่อสัตว์โดยตรง เพราะป่าคือถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ สัตว์บางชนิดต้องสูญพันธุ์ไปเพราะไม่มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย และขาดแคลนอาหาร สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศ ผูกพันกันเป็นห่วงโซ่อาหารดังภาพที่ 4  เมื่อสายพันธุ์หนึ่งสูญพันธุ์ก็จะส่งผลถึงสายพันธุ์อื่นต่อๆ กันไป  สัตว์บางชนิดที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วได้ไม่ทันก็จะสูญพันธุ์ไปโดยง่าย

ภาพที่ 4 ความสัมพันธ์แบบห่วงโซ่อาหาร

โคลนถล่ม

        ดินมีคุณสมบัติต่างจากกรวดและทรายตรงที่ดินมีองค์ประกอบของสารอินทรีย์หรือซากสิ่งมีชีวิต ดินมีกำเนิดจากป่า ตะกอนซากพืชซากสัตว์สะสมตัวบนพื้นป่าและถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ กลายเป็นธาตุอาหารปะปนอยู่กับกรวดและทรายขนาดเล็ก เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ชั้นดินของป่าฝนมีความหนากว่าชั้นดินของป่าแล้ง อย่างไรก็ตามดินของป่าฝนมีคุณสมบัติเป็นกรด  เมื่อต้นไม้ถูกถางโค่นเปิดโอกาสให้แสงอาทิตย์สัมผัสกับหน้าดินโดยตรง  ถ้าหากดินมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 25°C ธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจนจะถูกทำลาย ทำให้พืชพรรณอื่นๆ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการทำไร่เลื่อนลอยย้ายที่เพาะปลูกเพราะดินขาดธาตุอาหาร  อีกประการหนึ่งเนื้อดินที่ปราศจากสิ่งปกคลุมจะร้อนระอุและแตกเป็นแผ่น  เมื่อเนื้อดินไม่มีรากพืชคอยยึดเหนี่ยวให้ติดกันเป็นกลุ่มก้อน เวลาฝนตกหนัก น้ำที่ไหลบ่าจะพัดพาดินให้พังทลาย กลายเป็นโคลนถล่ม เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า บางหมู่บ้านจะถูกโคลนถล่มเมื่อเกิดน้ำท่วม เนื่องจากผืนป่าบริเวณต้นน้ำถูกทำลาย ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่บ้านน้ำก้อน จังหวัดเพชรบูรณ์ ในภาพที่ 5 

ภาพที่ 5 โคลนถล่มที่บ้านน้ำก้อ 

น้ำท่วม

        ตามปกติเนื้อดินในพื้นที่ป่าจะเป็นรูโพรง เนื่องจากมีรากพืชและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์  เมื่อเกิดฝนตกน้ำจะไม่ไหลบ่าในทันที แต่จะไหลซึมเข้าไปตามรูโพรงเหล่านี้ พืชดูดเอาสารละลายที่เกิดจากน้ำและแร่ธาตุในดินมาสร้างเนื้อเยื่อเพื่อการเจริญเติบโต  พืชทำหน้าที่เป็นอุโมงค์เชื่อมต่อระหว่างผืนดินและบรรยากาศ  เมื่อพืชคายน้ำก็จะถ่ายเทไอน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศ ดังเช่น วัฏจักรน้ำในภาพที่ 6   แต่เมี่อป่าถูกทำลาย ความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง ทำให้ปริมาณรูพรุนบนพื้นดินลดลงด้วย น้ำไม่สามารถไหลซึมสู่พื้นดิน และน้ำในดินไม่สามารถระเหยสู่บรรยากาศ เพราะไม่มีอุโมงค์ในการถ่ายเท  ฝนที่ตกลงมาจึงได้แต่ไหลบ่าไปตามพื้นดินทำให้เกิดน้ำท่วม 

ภาพที่ 6 วัฏจักรน้ำ

ภาวะเรือนกระจก

        ต้นไม้ทำหน้าที่เสมือนพ่อค้าคนกลางซึ่งแลกเปลี่ยนแก๊สชนิดต่างๆ ระหว่างพื้นดินกับบรรยากาศ (ภาพที่ 7) ฉะนั้นเมื่อพ่อค้าถูกฆ่าตายแล้ว ตลาดการแลกเปลี่ยนแก๊สย่อมซบเซา การเปลี่ยนแปลงปริมาณพืชมีผลกระทบต่อองค์ประกอบของบรรยากาศโดยตรง หน้าที่หลักของต้นไม้คือ การตรึงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมาสังเคราะห์อาหารด้วยแสง แล้วปล่อยแก๊สออกซิเจนออกมา ซึ่งก็หมายความว่า ต้นไม้ช่วยลดภาวะเรือนกระจกซึ่งเกิดจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เมื่อต้นไม้โดนตัดโค่นและถูกเผา การกระทำนี้นอกจากเป็นการบั่นทอนการลดภาวะเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเข้มของภาวะเรือนกระจกอีกด้วย  เนื่องจากการเผาไหม้ทำให้คาร์บอนซึ่งถูกสะสมอยู่ในเนื้อไม้ ถูกแพร่กระจายออกสู่บรรยากาศในรูปของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์   นอกจากนั้นยังเป็นการเปลี่ยนสภาพสิ่งปกคลุมดิน (Land cover) เช่น เปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้กลายเป็นพื้นที่การเกษตร ย่อมทำให้อัลบีโดของพื้นผิวโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของบรรยากาศด้วย

ภาพที่ 7 การแลกเปลี่ยนแก๊สบนพื้นดินกับบรรยากาศ

สภาวะกรด

        เมื่อใดก็ตามที่เกิดการเผาไหม้มวลชีวภาพ เช่น ป่าไม้ ทำให้เกิดแก๊สซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)   เมื่อเกิดการควบแน่นในอากาศ น้ำฝนจะทำปฏิกิริยากับแก๊สเหล่านี้จนกลายเป็นฝนกรดตกลงมา ทำให้พื้นดินและสิ่งแวดล้อมมีฤทธิ์เป็นกรดตามไปด้วย เมื่อน้ำไหลบ่าไปสะสมรวมกันในแหล่งน้ำ ค่าความเป็นกรดของน้ำก็จะสูงขึ้น และเมื่อถึงน้ำมีความเป็นกรดถึง pH 5 สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  นอกจากการเผาป่าจะทำให้สภาวะแวดล้อมเป็นกรดแล้ว ยังทำให้เกิดสารแขวนลอยในอากาศซึ่งมีผลกระทบต่ออุณหภูมิของอากาศ และสุขภาพของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย