ดาวพุธ

        ดาวพุธ (Mercury) เป็นดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก และไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร โครงสร้างภายในของดาวพุธประกอบไปด้วยแกนเหล็กขนาดใหญ่มีรัศมีประมาณ 1,800 ถึง 1,900 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชั้นที่เป็นซิลิเกต (ในทำนองเดียวกับที่แกนของโลกถูกห่อหุ้มด้วยแมนเทิลและเปลือก) ซึ่งหนาเพียง 500 ถึง 600 กิโลเมตร บางส่วนของแกนอาจจะยังหลอมละลายอยู่

        ในปี พ.ศ.2517 สหรัฐอเมริกาได้ส่งยานมารีเนอร์ 10 ไปสำรวจและทำแผนที่พื้นผิวดาวพุธเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จึงสามารถทำแผนที่ได้เพียงร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด  พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมบ่อมากมายคล้ายกับพื้นผิวดวงจันทร์ มีเทือกเขาสูงใหญ่และแอ่งที่ราบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป แอ่งที่ราบแคลอริสมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,300 กิโลเมตร นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า แอ่งที่ราบขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตในยุคเริ่มแรกของระบบสุริยะ

        ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก กลางวันจึงมีอุณหภูมิสูงถึง 430 °C  แต่กลางคืนอุณหภูมิลดเหลือเพียง -180°C อุณหภูมิกลางวันกลางคืนแตกต่างกันถึง 610°C

คำอธิบายภาพ

1. ภาพถ่ายดาวพุธจากยานเมสเซนเจอร์ 

2. แอ่งที่ราบแคลอริส

3. การแผ่กระจายของรอยแยกที่ใจกลางแอ่งแคลอริส 

4. เครเตอร์สองชั้นที่แอ่งเรดิทแลดิ

5. บริเวณขั้วใต้ 

ข้อมูลสำคัญ​

ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 57.91 ล้านกิโลเมตร

คาบวงโคจร 87.97 วัน 

ความรีของวงโคจร 0.206 

ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 7° 

แกนเอียง 0°

หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 58.65 วัน 

รัศมีของดาว 2,440 กิโลเมตร

มวล 0.055 ของโลก

ความหนาแน่น 0.98 ของโลก 

แรงโน้มถ่วง 0.38 ของโลก

องค์ประกอบของบรรยากาศที่เบาบางมาก ไฮโดรเจน, ฮีเลียม, โซเเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม

อุณหภูมิ  -180°C ถึง 430°C

ไม่มีดวงจันทร์​ 

ไม่มีวงแหวน 

ที่มาของข้อมูลและภาพ NASA's Solar System Lithograph Set