สังเกตทางช้างเผือก

        ในคืนที่ฟ้ามืดไร้เมฆและปราศจากแสงรบกวน เราจะมองเห็นแถบฝ้าสีขาวคล้ายเมฆพาดยาวข้ามขอบฟ้า มิว่าลมจะพัดแรงเพียงใดแถบฝ้าขาวก็ยังคงอยู่ คนโบราณเรียกแถบฝ้าสว่างนี้ว่า "ทางช้างเผือก" หรือ "ทางน้ำนม" ปัจจุบันเป็นที่ทราบดีกันแล้วว่า แถบฝ้าสว่างที่เห็นแท้จริงคือ อาณาจักรของดาวจำนวนมหาศาลซึ่งเรียกว่า "กาแล็กซี" (Galaxy) กาแล็กซีของเรามีชื่อว่า "กาแล็กซีทางช้างเผือก" (The Milky Way galaxy) ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะ คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นโอรสของสวรรค์อวตารลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ และมีช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมี จึงมีความเชื่อว่ามีทางช้างเผือกอยู่บนสวรรค์ กาแล็กซีทางช้างเผือกประกอบด้วย ดาวฤกษ์จำนวนหลายแสนล้านดวง ดาวฤกษ์แต่ละดวงอาจจะมีดาวเคราะห์อีกหลายดวง และระบบสุริยะของเราก็เป็นสมาชิกหนึ่งในนั้น หากส่องกล้องมองไปที่ทางช้างเผือก เราจะเห็นดวงดาวจำนวนมหาศาลมากมายเต็มไปหมดจนนับไม่ถ้วน ดั่งจำนวนเม็ดทรายบนชายหาด

ภาพที่ 1 ทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง

        ทางช้างเผือกพาดเป็นทางสว่างข้ามขอบฟ้าผ่านกลุ่มดาวสว่างดังนี้ กลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (ค้างคาว) เพอร์เซอุส สารถี คนคู่ กางเขนใต้ แมงป่อง คนยิงธนู นกอินทรี และกลุ่มดาวหงส์ (ดูแผนที่ดาววงกลมประกอบ) หากมองดูทางช้างเผือกด้วยตาเปล่าจากสถานที่ปราศจากแสงรบกวนเลย จะเห็นทางช้างเผือกเป็นแถบสว่างสองแถบขนาดกันโดยมีแถบสีดำขั้นระหว่างกลาง แถบสีดำนั้นไม่ใช่ช่องว่างของอวกาศ หากแต่บริเวณนั้นเป็นแนวระนาบของกาแล็กซี ซึ่งมีฝุ่นและแก๊สซึ่งมีอุณหภูมิต่ำอยู่อย่างหนาแน่น (Dust lane)  จึงมีลักษณะคล้ายเนบิวลามืดบดบังแสงสว่างจากดาวฤกษ์ในทางช้างเผือกซึ่งอยู่ด้านหลัง  และหากสังเกตทางช้างเผือกที่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแมงป่อง จะมีความกว้างใหญ่และมีดวงดาวอยู่หนาแน่นสว่างเป็นพิเศษดังในภาพที่ 1 และ 2 ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริเวณที่เรามองตรงไปยังจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก และหากส่องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์จะพบกระจุกดาวทรงกลมจำนวนมากรายล้อมอยู่บริเวณนั้น 

        เนื่องจากทางช้างเผือกประกอบด้วยประชากรดาวซึ่งมีทั้งใหม่ เก่า กำเนิดใหม่และแตกสลาย  หากเราส่องกล้องไปตามระนาบของทางช้างเผือก จะพบวัตถุในอวกาศลึก (Deep Sky Objects) หลากหลายชนิดจำนวนมาก ได้แก่ เนบิวลาสว่าง เนบิวลาสะท้อนแสง เนบิวลามืด กระจุกดาวเปิด เนบิวลาดาวเคราะห์ ซากซูเปอร์โนวา เป็นต้น  และหากส่องกล้องไปยังทิศทางอื่นที่ไม่ใช่ระนาบของทางช้างเผือกก็จะพบกาแล็กซีอื่นๆ ซึ่งอยู่ไกลห่างออกไป  การศึกษากาแล็กซีอื่นๆ ช่วยให้เราเข้าใจลักษณะทางกายภาพของกาแล็กซีของเราเองมากขึ้น 

ภาพที่ 2  ความหนาแน่นของดาวในทางช้างเผือก

        ถ้าหากแกนหมุนของโลกตั้งฉากกับระนาบของกาแล็กซี เราจะมองเห็นทางช้างเผือกเป็นทางยาวคาดท้องฟ้าในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทว่าความเป็นจริง แกนหมุนของโลกทำมุมเอียงกับระนาบของกาแล็กซีประมาณ 60 องศา ประกอบกับการที่โลกหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา  จึงทำให้เรามองเห็นทางช้างเผือกพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศทางการวางตัวบนท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา  บางเวลาอยู่ในแนวทิศเหนือทิศใต้ บางเวลาอยู่ในแนวทะแยงในมุมต่างๆ กัน 

        การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในที่มืดสนิด ในชนบท หรือ ป่าเขา ท้องทะเล ในคืนที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวนเท่านั้น    ดังนั้นในการดูทางช้างเผือกจะต้องมีการเตรียมการวางแผน ศึกษาเวลาการขึ้น-ตกของดวงจันทร์ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากปฏิทิน (ดวงจันทร์ขึ้นช้าวันละ 50 นาที) หรือซอฟต์แวร์แผนที่ดาวมาก่อน