ระยะเชิงมุม


การวัดระยะห่างระหว่างดวงดาวและวัตถุท้องฟ้านิยมวัดเป็น ระยะเชิงมุม (Angular distance) เช่น ดาว A อยู่ห่างจากดาว B ห้าองศา    ระยะเชิงมุมเป็นระยะห่างที่ปรากฏให้เห็น ทว่าความเป็นจริง ดาว A และดาว B อยู่ห่างจากเราไม่เท่ากัน   เราเห็นในดาวบนทรงกลมฟ้าเป็น 2 มิติ คือ กว้าง - ยาว   แต่เราไม่สามารถแยกแยะส่วนมิติความลึกเข้าไปในอวกาศได้ด้วยสายตา 

ภาพที่ 1 การวัดระยะเชิงมุม

ในการวัดระยะเชิงมุมให้ได้ค่าที่ละเอียดและมีความแม่นยำ จะต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าเซกแทนต์ในการวัด แต่ถ้าต้องการวัดค่าโดยประมาณ เราสามารถวัดระยะเชิงมุมได้โดยใช้นิ้วมือ เช่น ถ้ากางมือชูนิ้วโป้งและนิ้วก้อย โดยเหยียดแขนให้สุด ความกว้างของนิ้วทั้งสองเทียบกับมุมบนท้องฟ้า จะได้มุมประมาณ 18 องศา ดังที่แสดงในภาพที่ 2 ในคืนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง ถ้ากำมือชูนิ้วก้อยและเหยียดแขนออกไปให้สุด ทาบนิ้วก้อยกับดวงจันทร์ จะเห็นว่านิ้วก้อยบังดวงจันทร์ได้พอดี  ดวงจันทร์จึงมี "ขนาดเชิงมุม" เท่ากับครึ่งองศา  

ภาพที่ 2 การใช้มือวัดมุม

ขนาดเชิงมุม (Angular size) ของวัตถุขึ้นอยู่กับ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจริงของวัตถุ และ ระยะทางระหว่างวัตถุกับผู้สังเกต   หากวางลูกบอลห่างจากตัวเรา 1 เมตร แล้ววัดขนาดเชิงมุมของลูกบอล จากนั้นเลื่อนลูกบอลให้ห่างออกไป 3 เท่า ขนาดเชิงมุมจะลดลงเป็น 1 ใน 3 ของขนาดที่วัดได้ก่อนหน้านี้  ดังแสดงในภาพที่ 3   ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า "ขนาดเชิงมุม" คือ อัตราส่วนของขนาดจริง ต่อ ระยะห่างของวัตถุ

ภาพที่ 3 ขนาดเชิงมุม