สถานีอวกาศนานาชาติ


            สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS เป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้าซึ่งโคจรรอบโลกที่ระยะสูง 410 กิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 27,744 กิโลเมตร/ชั่วโมง โคจรรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 92 นาที สร้้างขึ้นด้วยความร่วมมือจาก 16 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เดนมาร์ก สวีเดน เบลเยียม เนเธอร์แลน์ สเปน อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และบราซิล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาได้แก่ ดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา วัสดุศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ เนื่องจากสถานีอวกาศอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถทำการทดลองหรือประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งไม่สามารถกระทำบนพื้นผิวโลกได้  ดังนั้นสถานีอวกาศนานาชาติจึงมีความสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติเป็นอย่างมาก

ภาพที่ 1 สถานีอวกาศนานาชาติ (ที่มา: NASA)

             สถานีอวกาศนานาชาติมีลักษณะเป็นโมดุลสำเร็จรูปหลายๆ ห้องเชื่อมต่อโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน  การประกอบสถานีอวกาศนานาชาติเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2551  โมดุลแรกเป็นของรัสเซียมีชื่อว่า "ซาร์ยา" (Zarya) เป็นห้องควบคุมการบิน การสื่อสาร ชุดแรงขับเคลื่อน และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ถูกนำขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดโปรตอน (Proton)  โมดุลที่สองเป็นของสหรัฐอเมริกามีชื่อว่า "ยูนิตี" (Unity) ถูกขนส่งขึ้นไปโดยกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) เป็นห้องสร้างแรงดันบรรยากาศ และเป็นท่าเชื่อมต่อระหว่างยานขนส่งอวกาศกับสถานีอวกาศดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 กระสวยอวกาศกำลังเชื่อมต่อยูนิตีเข้ากับซาร์ยา (ที่มา: NASA)

            ในสองปีแรกสถานีอวกาศยังไม่สามารถให้มนุษย์อยู่อาศัยได้ จนกระทั่งปี 2543 รัสเซียได้ส่งโมดุลที่สามซึ่งมีชื่อว่า "สเวซดา" (Zvezda) ขึ้นไปเชื่อมต่อ ทำให้สถานีอวกาศนานาชาติมีปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการดำรงชีพ ได้แก่ เครื่องฟอกแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เครื่องผลิตแก๊สออกซิเจน เครื่องควบคุมความชื้น ห้องครัว เตียงนอน อุปกรณ์ออกกำลังกาย นับแต่นั้นมานักบินอวกาศและนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มหมุนเวียนผลัดกันขึ้นไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศดังภาพที่ 3

ภาพที่ 3 ภายในสถานีอวกาศ (ที่มา: ESA)

             การประกอบสถานีอวกาศนานาชาติยังคงดำเนินต่อไปตราบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติมีความกว้าง 109 เมตร ยาว 73 เมตร มีมวลรวมมากกว่า 450,000 กิโลกรัม  สามารถมองเห็นจากพื้นโลกได้ด้วยตาเปล่าในเวลากลางคืนเป็นดาวสว่างสีขาวคล้ายดาวศุกร์ เคลื่อนที่ข้ามขอบฟ้าด้วยความเร็วสูงในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ (51.6° – 231.6°)  ภาพที่ 4 เป็นภาพถ่ายสถานีอวกาศนานาชาติจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก

ภาพที่ 4 ภาพถ่าย ISS จากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก (ที่มา: Wiki)