ทวีปในอดีต

        อัลเฟรด เวเกเนอร์ (Alfred Wegener) นักอุตุนิยมวิทยาชาวเยอรมันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตั้งข้อสังเกตว่า รูปร่างโค้งชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้สอดรับกับโค้งชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา เขาได้ตั้งสมมติฐานว่า เมื่อประมาณสองร้อยล้านปีมาแล้ว ทวีปทั้งหลายเคยอยู่ชิดติดกันเป็นมหาทวีปชื่อว่า พันเจีย (Pangaea) ซึ่งประกอบด้วยดินแดนตอนเหนือชื่อ ลอเรเซีย (Laurasia) และดินแดนตอนใต้ชื่อ กอนด์วานา (Gondwana) ดังภาพที่ 1 โดยมีหลักฐานสนับสนุนได้แก่ รูปร่างโค้งเว้าของทวีป ฟอสซิลไดโนเสาร์และพืชโบราณ  ร่องรอยของธารน้ำแข็งและภูมิอากาศในอดีต รวมทั้งโครงสร้างทางธรณีวิทยา เช่น องค์ประกอบและอายุหิน

ภาพที่ 1  มหาทวีป "พันเจีย"

        นักธรณีวิทยาพบว่า ทวีปที่สัณนิษฐานว่า เคยอยู่ชิดติดกัน จะมีซากฟอสซิลที่เหมือนกัน เช่น ไซโนกาทัส (Cynogathus) สัตว์เลื้อยคลานในยุคไทรแอสสิคอาศัยอยู่ในบราซิลและแอฟริกา, ลีสโทรซอรัส (Lystrosaurus) อาศัยอยู่ในแอฟริกา อินเดีย และแอนตาร์กติก, มีโซซอรัส (Mesosaurus) อาศัยอยู่ในตอนใต้ของอเมริกาใต้และแอฟริกา, ต้นกลอสโซเทรีส (Grossoteris) เคยแพร่พันธุ์อยู่ในอเมริกา แอฟริกา อินเดีย แอนตาร์กติก และออสเตรเลีย ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 การแพร่พันธุ์ของสัตว์ในอดีต

       นักอุตุนิยมวิทยาพบร่องรอยของธารน้ำแข็งโบราณในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติก  นักธรณีวิทยาพบว่า ภายใต้พื้นที่ทะเลทรายของอเมริกาเหนือและเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งถ่านหินและน้ำมันดิบในปัจจุบัน  ในอดีตเคยเป็นเขตศูนย์สูตรซึ่งอุดมไปด้วยป่าไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบัน  ดังภาพที่ 3   นอกจากนี้นักธรณีได้ทำการตรวจสอบอายุหินฐานซึ่งวางตัวอยู่ชั้นล่างสุด ในบริเวณตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติก พบว่าหินบริเวณเหล่านี้มีอายุเก่าไล่เลี่ยกัน 

ภาพที่ 3  สภาพภูมิอากาศในอดีต สีเขียวคือป่าเขตร้อน สีขาวคือธารน้ำแข็ง 

        ในปี พ.ศ.2509 นักธรณีวิทยาชาวแคนาดาชื่อ จอห์น ทูโซ วิลสัน (John Tuzo Wilson) ได้ตั้งสมมติฐานว่า เปลือกโลกถูกทำลายและสร้างขี้นใหม่ในลักษณะรีไซเคิลทุกๆ 500 ล้านปี เนื่องจากโลกของเรามีเส้นรอบวงยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร จึงคำนวณได้ว่า เปลือกโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วปีละ 4 เซนติเมตร ดังนั้นเปลือกโลกซึ่งแยกตัวออกจากกันในซีกโลกหนึ่ง จะเคลื่อนที่ไปชนกันในซีกโลกตรงข้ามโดยใช้เวลาประมาณ 500 ล้านปี ดูรายละเอียดในภาพที่ 4 

ภาพที่ 4 วัฏจักรวิลสัน

        เปลือกโลกมหาสมุทรเกิดขึ้นใหม่จากการโผล่ขึ้นของหินหนืดในจุดร้อน (Hot spot) ใต้เปลือกโลก  หินหนืดจากฐานธรณีภาคดันเปลือกทวีปทั้งสองให้แยกจากกัน และเคลื่อนที่ไปชนกับเปลือกโลกมหาสมุทรในซีกโลกฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าให้จมตัวลง การชนกันทำให้มหาสมุทรทางด้านตรงข้ามมีขนาดเล็กลง ดังภาพที่ 4 (ก) 

         จากนั้นเปลือกโลกทวีปเคลื่อนที่ไปชนกัน ทำให้เกิดมหาทวีปในซีกโลกหนึ่ง (เช่น พันเจีย) และเกิดมหาสมุทรขนาดใหญ่ในซีกตรงข้าม ดังภาพที่ 4 (ข)

        เมื่อเวลาผ่านไป หินหนืดที่เกิดจากจุดร้อนใต้เปลือกโลก ดันให้เปลือกโลกทวีปเแยกออกจากกัน เกิดเปลือกโลกมหาสมุทรขึ้นมาใหม่ ดันเปลือกทวีปให้แยกตัวจากกัน และเคลื่อนที่ไปชนกับเปลือกโลกมหาสมุทรในซีกตรงข้าม มหาสมุทรจึงมีขนาดเล็กลง ดังภาพที่ 4 (ค)  และท้ายที่สุดเปลือกทวีปทั้งสองก็จะชนกันเป็นมหาทวีปอีกครั้ง กระบวนการเช่นนี้เรียกว่า วัฏจักรวิลสัน (Wilson's cycle)