ฐานตั้งกล้องโทรทรรศน์

        เนื่องจากกล้องโทรรศน์มีขนาดใหญ่มีน้ำหนักมากและให้กำลังขยายสูง  การเคลื่อนไหวกล้องโทรทรรศน์เพียงเบาๆ จะทำให้ภาพสั่นเบลอขาดความคมชัด  กล้องโทรทรรศน์จึงจำเป็นต้องติดตั้งอยู่บนฐานตั้งกล้อง (Telescope mount) ที่มีนำ้หนักมากและมั่นคง  ฐานตั้งกล้องโทรทรรศน์เป็นแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ฐานระบบขอบฟ้า และฐานระบบศูนย์สูตร

        ฐานระบบขอบฟ้า (Alt-azimuth Mount) มีแกนหมุน 2 แกนตามระบบพิกัดขอบฟ้า คือ แกนหมุนในแนวนอนในแนวระดับสำหรับปรับค่ามุมทิศ (Azimuth)  และแกนหมุนในแนวดิ่งสำหรับปรับค่ามุมเงย (Altitude) ฐานตั้งกล้องชนิดนี้เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องการกำลังขยายสูง สามารถใช้มือหันกล้องไปยังเป้าหมายที่ต้องการ  แต่เมื่อใช้กำลังขยายสูงจะมีปัญหา เนื่องจากดาวเคลื่อนที่ไปตามทรงกลมฟ้าด้วยอัตรา 0.25 องศาต่อนาที ดาวจะเคลื่อนที่หนีกล้อง ทำให้ต้องปรับกล้องหมุนตามดาวทั้งสองแกนพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่

สะดวก 

ภาพที่ 1 ฐานระบบขอบฟ้า 

        ฐานระบบศูนย์สูตร (Equatorial Mount) มีแกนหมุน 2 แกนตามระบบศูนย์สูตร  การติดตั้งฐานครั้งแรกจะต้องตั้งให้แกนไรท์แอสเซนชัน (RA) ชึ้ไปยังจุดขั้วฟ้าเหนือ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทรงกลมฟ้า (ใกล้ดาวเหนือ) ส่วนแกนเดคลิเนชัน (Dec) จะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ส่องไปยังเป้าหมายที่ต้องการ เมื่อใช้งานแกน RA จะหมุนด้วยความเร็วเท่ากับโลกหมุนรอบตัวเองเพื่อติดตามดาวให้อยู่กลางภาพตลอดเวลา  ป้องกันมิให้ดาวเคลื่อนหนีกล้อง  ฐานระบบศูนย์สูตรจึงมีกลไกสลับซับซ้อนกว่าฐานระบบขอบฟ้า ทำให้มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย  ฐานระบบศูนย์สูตรเหมาะกับการใช้งานกำลังขยายสูงและงานถ่ายภาพติดตามดาว  แต่ไม่เหมาะสำหรับส่องดูวิวบนพื้นโลก เนื่องจากไม่สามารถกวาดกล้องในแนวขนานกับพื้นดิน

ภาพที่ 2 ฐานระบบศูนย์สูตร