ความดันไอน้ำ


ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนสถานะของน้ำคือ อุณหภูมิ และความดัน ปัจจัยทั้งสองเกี่ยวพันใกล้ชิดจนเปรียบเสมือนด้านหัวและก้อยของเหรียญเดียวกัน ขึ้นอยู่ว่าเราจะมองด้านไหน  การมองว่า “อุณหภูมิ” คือระดับของพลังงาน จะช่วยให้ทำความเข้าใจเรื่องปริมาณไอน้ำในอากาศได้ง่ายขึ้น    ระดับพลังงาน ณ อุณหภูมิห้อง (10°C – 40°C)  ทำให้โมเลกุลของน้ำสั่น น้ำจึงมีสถานะเป็นของเหลว หากพลังงานเพิ่มขึ้นโมเลกุลของน้ำก็จะสั่นมากขึ้น จนถึงระดับหนึ่งก็จะหลุดลอยเป็นอิสระและเปลี่ยนสถานะเป็นแก๊ส ซึ่งเรียกว่า “ไอน้ำ”  ในทางกลับกันหากพลังงานลดต่ำลง  โมเลกุลของน้ำจะเกาะตัวกันแน่นขึ้นจนกลายเป็นผลึกและมีสถานะเป็นของแข็ง  เราจึงสรุปได้ว่า “วันที่มีอุณหภูมิสูงมีไอน้ำในอากาศมาก วันที่มีอุณหภูมิต่ำมีไอน้ำในอากาศน้อย” หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “ฤดูร้อนย่อมมีไอน้ำในอากาศมากกว่าฤดูหนาว” “บริเวณร้อนชื้นแถบศูนย์สูตรย่อมมีไอน้ำในบรรยากาศมากกว่าบริเวณเขตหนาวขั้วโลก”  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ณ อุณหภูมิหนึ่งๆ จะมีปริมาณไอน้ำในอากาศ เป็นจำนวนที่ชี้เฉพาะขึ้นอยู่กับระดับของพลังงาน (อุณหภูมิ)      เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะมีแนวโน้มว่า มีไอน้ำในบรรยากาศมากขึ้น   และหากอุณหภูมิลดต่ำลงจะมีแนวโน้มว่า ไอน้ำจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวหรือของแข็ง