การเคลื่อนที่ของทรงกลมฟ้าในรอบวัน
ตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้าเปลี่ยนแปลง (การเคลื่อนที่ของทรงกลมฟ้า) เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก และการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์พัฒนาความรู้ทางคณิตศาสตร์จากการสังเกตการณ์ท้องฟ้า มาสร้างนาฬิกาและปฏิทินเพื่อบอกเวลา ในบทนี้จะแสดงการคำนวณหาตำแหน่งของดาวอย่างคร่าวๆ ด้วยวิธีบัญญัติไตรยางศ์
การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งดาวเนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเอง
โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง
24 ชั่วโมง ตำแหน่งของดาว (RA มุมที่ทำกับขั้วฟ้า) เปลี่ยนแปลง 360°
1 ชั่วโมง ตำแหน่งของดาวเปลี่ยนแปลง = 360° / 24 = 15°
1 นาที ตำแหน่งของดาวเปลี่ยนแปลง = 15° / 60 = 0.25°
ตัวอย่างที่ 1: สมมติว่าวันนี้ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.00 น. อยากทราบว่าเวลา 09.00 น. ดวงอาทิตย์จะอยู่สูงจากขอบฟ้ากี่องศา
ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เวลา 06.00 น. ไปตกยังทิศตะวันตก เวลา 18.00 น. ใช้เวลา 12 ชั่วโมง คิดเป็นมุมได้ 180°
ดังนั้น 1 ชั่วโมง ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ = 180° / 12 = 15°
เพราะฉะนั้นเวลา 09.00 น. ดวงอาทิตย์จะอยู่สูงจากขอบฟ้า = (9 – 6) x 15° = 45°