จักรราศี
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 1 ปี ทำให้ตำแหน่งปรากฎของดวงอาทิตย์ผ่านหน้ากลุ่มดาวในแนวสุริยวิถีดังภาพที่ 1 ยกตัวอย่าง ในเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์อยู่หน้ากลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) หนึ่งเดือนต่อมาเรามองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ในทิศทวนเข็มนาฬิกาไป 30° อยู่หน้ากลุ่มดาวปู (ราศีกรกฏ) ซึ่งอยู่ถัดไป 30° เช่นกัน เราเรียกกลุ่มดาวซึ่งบอกตำแหน่งดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือนว่า “จักรราศี” (Zodiac) ผู้คนในสมัยก่อนใช้กลุ่มดาวจักรราศีเป็นปฏิทินในการกำหนดเดือน โดยการเปรียบเทียบตำแหน่งของดวงอาทิตย์กับตำแหน่งของกลุ่มดาวจักรราศีบนทรงกลมฟ้า โดยถือเอาเส้นสุริยวิถีเป็นเส้นรอบวง 360° หารด้วยจำนวนกลุ่มดาวประจำราศีทั้ง 12 กลุ่ม ซึ่งห่างกันกลุ่มละ 30° (30° x 12 = 360°)