ขณะที่เซลล์ยูคาริโอตพัฒนาคลอโรพลาสต์เพื่อสังเคราะห์อาหารจากคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยแสง แล้วปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา มันได้พัฒนาไมโทครอนเดรียนเพื่อนำออกซิเจนมาเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงาน แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกมาควบคู่ไปด้วย นี่คือรากฐานของสมดุลธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตในยุคต่อมาจึงวิวัฒนาการเป็นพืชและสัตว์ ออโตทรอฟและเฮเทโรทรอฟเป็นสิ่งที่คู่กัน ฝ่ายหนึ่งผลิตอีกฝ่ายหนึ่งบริโภค ฝ่ายหนึ่งสร้างออกซิเจนอีกฝ่ายหนึ่งสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ ดังเช่น ไดอะตอม (แพลงตอนพืช) และฟอรามินิเฟอร์ (แพงตอนสัตว์) ในภาพที่ 4
ออกซิเจนเป็นประโยชน์กับสปีชีส์หนึ่งแต่กลับเป็นพิษกับอีกสปีชีส์หนึ่ง แบคทีเรียสีน้ำเงินแกมเขียวปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาทำให้แบคทีเรียบางชนิดถูกทำลาย ออกซิเจนเป็นธาตุที่ช่วยในการสันดาปแต่ถ้าปริมาณของออกซิเจนในบรรยากาศโลกมีมากถึง 35% จะเกิดไฟจะไหม้โลก ดังนั้นขณะที่พืชตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมาสร้างอาหารแล้วปล่อยออกซิเจนออกมา สัตว์กินพืชเพื่อควบคุมปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ แล้วปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่บรรยากาศเพื่อเป็นการปรับสมดุล แต่ถ้ามนุษย์ขุดเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและน้ำมัน) ขึ้นมาเผาไหม้ก็จะทำให้มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมากเกินไป อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นจนน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นจนท่วมพื้นที่ชายฝั่ง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งมีชีวิตมีอิทธิพลต่อบรรยากาศ และสมดุลของโลกเป็นอย่างยิ่ง