พายุหมุนเขตร้อน
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm) เป็นคำทั่วๆไปที่ใช้สำหรับเรียกพายุหมุนขนาดใหญ่ที่เกิดเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดหลายร้อยกิโลเมตร สามารถปกคลุมประเทศไทยได้ทั้งประเทศ เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก มีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางในทางเดียวกับเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุดบางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางบางครั้งต่ำกว่า 900 เฮกโตปาสคาล (hPa) มีลักษณะอากาศร้ายเกิดขึ้น มีฝนตกหนักมากและมีพายุฟ้าคะนอง ทำให้เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเล และน้ำขึ้นสูง ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม มองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเรียกว่า "ตาพายุ" ดังในภาพที่ 1 เส้นผ่าศูนย์กลางตาพายุมีขนาดประมาณ 15 - 60 กิโลเมตร ภายในตาพายุมีอากาศแจ่มใส ลมพัดอ่อน มีเมฆบ้างเล็กน้อย
ภาพที่ 1 พายุไต้ฝุ่น "พาร์มา" และ "เมเลอร์"
พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (Hurricane) ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" (Typhoon) ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า "ไซโคลน" (Cyclone) ดังแผนที่ในภาพที่ 2 แต่บางครั้งก็เรียกพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า "วิลลี่-วิลลี่" (Willy-Willy)
พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย มีการแบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้
พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป
พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวขึ้นกลางมหาสมุทร เนื่องจากน้ำบนมหาสมุทรได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็จะระเหยขึ้นเป็นไอน้ำแล้วควบแน่นเป็นเมฆก่อตัวแนวดิ่งจำนวนมากแล้วรวมตัวเป็นพายุ แรงโคริออริสซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้พายุหมุนตัวเป็นรูปกังหัน พายุจะเคลื่อนที่ไปตามแนวความกดอากาศต่ำ (L) เนื่องจากในอากาศร้อนชื้่นมีไอน้ำอยู่เป็นจำนวนมากเป็นตัวหล่อเลี้ยงพายุ แต่เมื่อพายุเคลื่อนตัวขึ้นบนแผ่นดินก็สลายตัวไป เนื่องจากไม่มีไอน้ำในอากาศมาหล่อเลี้ยงพายุได้เพียงพอ ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นโครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อนในซีกโลกเหนือ ประกอบด้วยเกลียวแขนของเมฆคิวมูโลนิมบัสซึ่งเป็นเมฆที่ก่อตัวแนวตั้งจนกลายเป็นเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง หมุนรอบศูนย์กลางในทิศทวนเข็มนาฬิกา ทำให้เกิดแถบฝน (Rainbands) ที่ศูนย์กลางของพายุเรียกว่า "ตาพายุ" (Eye) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งท้องฟ้าใสไร้เมฆ กำแพงของตาพายุ (Eyewall) เป็นเมฆรูปวงกลมขนาดใหญ่ยกตัวในแนวดิ่งและมียอดแผ่ออกทางข้างเป็นเมฆเซอรัสซึ่งหนาทึบ (Dense Cirrus Overcast) ปกคลุมวงแหวนของเซลล์เมฆพายุฝนฟ้าคะนองที่อยู่ด้านล่าง
ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน ด้านตะวันออกเป็นมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ส่วนด้านตะวันตกเป็นมหาสมุทรอินเดีย พายุมีโอกาสเคลื่อนจากทางด้านตะวันออกมากกว่าทางตะวันตก ปกติประเทศไทยจะมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3 - 4 ลูกต่อปี ต้นปีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมเป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (ดูภาพที่ 4 ประกอบ) โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพายุที่เคลื่อนมาจากด้านตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน และตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พายุส่วนใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก โดยช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พายุยังคงเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ซึ่งบริเวณตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมมีสถิติเคลื่อนเข้ามามากที่สุดในรอบปี และในช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนพายุจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ แต่ในภาคอื่นๆ จะกลายเป็นฤดูหนาว ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน นำความหนาวเย็นลงมา ระบบอากาศในช่วงนี้จึงไม่เอื้อให้เกิดพายุขึ้นเหนือทะเล