น้ำทะเล
น้ำทะเลมีรสเค็ม เนื่องจากมีเกลือซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ปะปนอยู่ในรูปของสารละลาย ในน้ำทะเล 1 ลิตร (1,000 กรัม) มีเกลืออยู่ 35 กรัม ในบริเวณที่น้ำทะเลอุณหภูมิสูง เช่น ใจกลางมหาสมุทรบริเวณเส้นศูนย์สูตร แสงแดดมีความเข้มสูงทำให้น้ำในมหาสมุทรระเหยเป็นไอน้ำทิ้งแร่ธาตุที่ตกค้างไว้ในทะเล น้ำทะเลจึงมีความเค็มมาก แต่ในที่หนาวเย็นที่บริเวณขั้วโลก แสงแดดตกกระทำพื้นผิวโลกเป็นมุมเฉียง พลังงานที่ตกกระทบน้อย ปริมาณการระเหยของน้ำทะเลย่อมน้อยตามไปด้วยจึงมีความเค็มไม่มาก ในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำมีความเค็มไม่มากเนื่องจากอิทธิพลของน้ำจืดจากแม่น้ำลำคลองทำให้น้ำทะเลเจือจาง
เกลือในมหาสมุทรมีกำเนิดมาจากแร่ธาตุบนพื้นโลก น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดี น้ำฝนละลายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศทำให้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ น้ำที่อยู่บนพื้นโลกละลายแร่ธาตุในหินและดิน ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำลำธารไปสะสมกันในมหาสมุทร สารละลายเกลือเหล่านี้อยู่เป็นประจุของแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ประจุโซเดียม (Na+) และประจุคลอไรด์ (Cl-) เมื่อน้ำระเหยออกไปประจุเหล่านี้รวมตัวกันเป็นสารประกอบ ได้แก่ เกลือแกง (NaCl) และเกลืออื่นๆ ดังตารางที่ 1
มวลน้ำในมหาสมุทร มี 3 ระดับ คือ น้ำชั้นบน เทอร์โมไคลน์ และน้ำชั้นล่าง
น้ำชั้นบน (Surface water) ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์และบรรยากาศ จึงมีน้ำฝนและน้ำท่า (น้ำจากแม่น้ำลำคลอง) ปนอยู่ จึงมีความความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำชั้นล่าง
เทอร์โมไคลน์ (Thermocline) อยู่ใต้ระดับน้ำชั้นบน เป็นเขตที่อุณหภูมิของน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็วตามความลึกที่เพิ่มขึ้นดังภาพที่ 1 ความเค็มเพิ่มขึ้นตามความลึก
น้ำชั้นล่าง (Deep water) มีอุณหภูมิต่ำ ความเค็มและความหนาแน่นสูงมาก
น้ำในบริเวณพื้นผิวมหาสมุทร ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์และบรรยากาศ จึงมีน้ำฝนหรือน้ำจากแม่น้ำลำคลองปนอยู่ จึงมีความเจือจางและมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำชั้นล่าง ซึ่งมีความเค็มสูงและมีอุณหภูมิต่ำกว่า เมื่อดูกราฟในภาพที่ 1 จะเห็นว่า ใต้ระดับผิวน้ำลงไปอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเรียกว่า "เทอร์โมไคลน์" (Thermocline) ใต้ระดับผิวน้ำลงไปความเค็มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเรียกว่า "แฮโลไคลน์" (Halocline) อุณหภูมิและความเค็มคือปัจจัยที่ทำให้น้ำทะเลมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นตามระดับความลึก
ภาพที่ 1 เทอร์โมไคลน์ และแฮโลไคลน์