ธาตุ
องค์ประกอบของธาตุ
อะตอม (Atom) เป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของสสาร ซึ่งประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็ก 3 ชนิด ได้แก่
โปรตอน (Proton) มีคุณสมบัติทางไฟฟ้าเป็นประจุบวก
อิเล็กตรอน (Electron) มีคุณสมบัติทางไฟฟ้าเป็นประจุลบ
นิวตรอน (Neutron) ไม่มีคุณสมบัติเป็นประจุ
โปรตอนและนิวตอนอยู่ตรงนิวเคลียส โดยมีอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบนอก เมื่ออะตอมแผ่พลังงานออกภายนอกก็จะลดวงโคจรสู่ระดับต่ำ เมื่ออะตอมได้รับพลังงานจากภายนอก อิเล็กตรอนจะกระโดดขึ้นสู่วงโคจรชั้นบนหรือหลุดออกไปเลย เราเรียกอะตอมที่มีจำนวนโปรตอนและอิเล็กตรอนไม่เท่ากันว่า "ประจุ" (Ion)
ธาตุ (Element) คือ โครงสร้างพื้นฐานของสสารที่ไม่สามารถแยกย่อยได้อีกด้วยกระบวนการทางเคมี ซึ่งเราอาจจะกล่าวอีกอย่างว่า ธาตุ คือ เซ็ตโครงสร้างของอะตอม ธาตุแต่ละชนิดประกอบขึ้นด้วยอนุภาคจำนวนไม่เท่ากัน โดยที่จำนวนของโปรตอนเป็นตัวระบุลำดับของธาตุ (Atomic number) ยกตัวอย่างเช่น
ธาตุลำดับที่ 1 คือ ไฮโดรเจน อะตอมของธาตุไฮโดรเจน ประกอบด้วย โปรตอน 1 ตัว และอิเล็กตรอน 1 ตัว และไม่มีนิวตรอน
ธาตุลำดับที่ 2 คือ ฮีเลียม อะตอมของธาตุฮีเลียม ประกอบด้วย โปรตอน 2 ตัว นิวตรอน 2 ตัว และอิเล็กตรอน 2 ตัว
ธาตุลำดับที่ 8 คือ ออกซิเจน อะตอมของธาตุออกซิเจน ประกอบด้วย โปรตอน 8 ตัว นิวตรอน 8 ตัว และอิเล็กตรอน 8 ตัว ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 อะตอมของออกซิเจน
ธาตุแต่ละชนิดมีโครงสร้างอะตอมไม่เหมือนกัน จึงมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น ธาตุไฮโดรเจนมีน้ำหนักเบา สูญเสียอีเล็กตรอนได้ง่ายเมื่อได้ดูดกลืนรังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ ธาตุออกซิเจนมีความว่องไวในการทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น จึงทำให้เกิดสารประกอบจำนวนมากบนเปลือกโลก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบธาตุทั้งหมดในจักรวาลจำนวน 112 ธาตุ เป็นธาตุที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ 88 ธาตุ ส่วนที่เหลือเป็นธาตุที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการ
กำเนิดธาตุ
เมื่อจักรวาลกำเนิดขึ้น พลังงานจำนวนมากได้อัดตัวเป็นสสาร ตามทฤษฎีสัมพันธภาพของไอสไตน์ E = mc2 (พลังงาน = มวลสาร * ความเร็วแสงยกกำลังสอง) ธาตุที่มีมากที่สุดในจักรวาลคือ ธาตุไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นธาตุที่มีโครงสร้างอะตอมที่เรียบง่ายที่สุด คือ มีเพียงโปรตอนและอีเล็กตอนอย่างละหนึ่งตัว เมื่อไฮโดรเจนจำนวนมากรวมตัวกันจะกำเนิดเป็นดาวฤกษ์ แรงโน้มถ่วงทำให้เกิดแรงกดดันที่ใจกลางของดาวฤกษ์จนมีอุณหภูมิสูง 10 ล้านเคลวิน เกิดปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชัน หลอมอะตอมของไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุลำดับที่ 1 ให้กลายเป็นฮีเลียมซึ่งเป็นธาตุลำดับที่ 2 เมื่อไฮโดรเจนบนดาวเปลี่ยนเป็นฮีเลียมจนหมด ดาวฤกษ์มวลมากสามารถฟิวชันฮีเลียมให้เป็นคาร์บอน ออกซิเจน นีออน ซิลิกอน ตามลำดับ จนในที่สุดกระบวนการฟิวชันจะหยุดลงที่ธาตุเหล็ก และเมื่อดาวฤกษ์มวลมากสิ้นอายุขัย จะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลซึ่งมีความร้อนสูงมากทำให้เกิดธาตุที่หนักกว่าเหล็ก ได้แก่ อิริเดียม เงิน ทองคำ ยูเรเนียม เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าในธรรมชาติจะมี 88 ธาตุ แต่มีเพียง 8 ธาตุเท่านั้นที่เป็นองค์ประกอบหลักของเปลือกโลก ได้แก่ ออกซิเจน ซิลิกอน อะลูมิเนียม เหล็ก แคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม และแมกนีเซียม
ตารางที่ 1 ธาตุที่มีอยู่มากบนเปลือกโลก
โมเลกุล (Molecule) คือเซ็ตการจับกลุ่มของอะตอม เมื่ออะตอมของธาตุออกซิเจนจับคู่กัน เราเรียกว่า ออกซิเจน (O2) มีคุณสมบัติเป็นแก๊สที่ช่วยให้ไฟติด แต่เมื่ออะตอมของธาตุออกซิเจนจับกลุ่มสามอะตอม เราเรียกว่า โอโซน (O3) มีคุณสมบัติเป็นแก๊สเรือนกระจก โมเลกุลอาจจะเป็นการจับคู่ของอะตอมต่างชนิดก็ได้ เช่น โมเลกุลของน้ำ (H2O) ประกอบด้วย อะตอมของไฮโดรเจน 1 ตัว และอะตอมของออกซิเจน 1 ตัว ทั้งนี้อะตอมของธาตุทั้งหลายสามารถเชื่อมต่อกันด้วยพันธะ 4 ชนิด ดังนี้
พันธะไอออน (Ion bond) เกิดขึ้นเมื่ออะตอมที่มีประจุบวกจับคู่กับอะตอมที่มีปะจุลบ เช่น เกลือโซเดียมคลอไลน์ (NaCl) ประกอบด้วย โซเดียมประจุบวก และคลอรีนประจุลบ ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 โมเลกุลของโซเดียมคลอไรด์
พันธะโควาเลนต์ (Covalent bond) เกิดขึ้นเมื่ออะตอมเชื่อมต่อโดยการใช้อิเล็คตรอนร่วมกัน เช่น เพชร มีโครงสร้างที่เป็นอะตอมของธาตุคาร์บอนที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปผลึกโดยใช้อิเล็กตรอนชั้นนอกร่วมกัน จึงมีความแข็งแรงมาก
พันธะโลหะ (Metallic bond) เกิดขึ้นกับอะตอมที่มีอิเล็กตรอนอยู่หลวมๆ นิวเคลียสของแต่ละอะตอมจะอยู่ชิดติดกัน แต่อิเล็กตรอนจะลื่นไหลส่งผ่านกันโดยอิสระ โลหะจึงมีความเหนียวและเหนี่ยวนำไฟฟ้าได้ดี
พันธะแวนเดอวาลส์ (Van der Waal's bond) เป็นพันธะที่ยึดแต่ละโมเลกุลไว้ด้วยกัน โดยมีจุดต่อเชื่อมที่อะตอมเพียงบางตัวซี่งยึดเหนี่ยวกันด้วยประจุต่างขั้ว พันธะแบบนี้จึงมีความแข็งแรงน้อย ยกตัวอย่างเช่น กราไฟต์ หรือไมกา ซึ่งสามารถดึงให้หลุดเป็นแผ่นได้โดยง่าย พันธะไฮโดรเจน เป็นรูปแบบหนึ่งของพันธะแวนเดอวาลส์ ซึ่งทำให้เกิดผลึกของน้ำแข็ง