หินตะกอน
แม้ว่าหินจะเป็นของแข็ง แต่มันก็มิสามารถดำรงอยู่ได้อย่างถาวร หินเมื่อถูกแสงแดด ลมฟ้าอากาศ และน้ำ หรือ ถูกกระแทก ก็แตกเป็นก้อนเล็กๆ หรือผุกร่อน เสื่อมสภาพลง เศษหินที่ผุพังทั้งอนุภาคใหญ่และเล็กถูกพัดพาไปสะสมอัดตัวกัน เป็นชั้นๆ เกิดความกดดันและปฏิกิริยาเคมีจนกลับกลายเป็นหินอีกครั้ง หินที่เกิดใหม่นี้เราเรียกว่า หินตะกอน (Sedimentary rock) ปัจจัยที่ทำให้เกิดหินตะกอนมีดังนี้
การผุพัง (Weathering) คือ การที่หินผุพังทำลายลง (อยู่กับที่) ด้วยกรรมวิธีต่างๆ จากลมฟ้าอากาศ สารละลาย และรวมทั้งการกระทำของต้นไม้ แบคทีเรีย ตลอดจนการแตกตัวทางกลศาสตร์ มีการเพิ่มอุณหภูมิและลดอุณหภูมิสลับกันเป็นต้น ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงการผุพังของหินชั้นบน ประกอบกับการดันตัวจากใต้เปลือกโลก ทำให้เกิดภูเขาหินแกรนิต
ภาพที่ 1 ภูเขาหินแกรนิตซึ่งกำลังผุพังจากสภาพลมฟ้าอากาศ
ตารางที่ 1 ตัวอย่างกระบวนการผุพังทางเคมี (Chemical Weathering)
การกร่อน (Erosion) หมายถึง กระบวนการที่ทำให้สารเปลือกโลกหลุด ละลายไป หรือกร่อนไป (โดยมีการเคลื่อนที่กระจัดกระจายไปจากที่เดิม) โดยมีต้นเหตุคือตัวการธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ลมฟ้าอากาศ กระแสน้ำ ธารน้ำแข็ง การครูดถู ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วง
ภาพที่ 2 การกร่อนด้วยกระแสลม
การพัดพา (Transportation) หมายถึง การเคลื่อนที่ของมวลหิน ดิน ทราย โดยกระแสน้ำ กระแสลม หรือธารน้ำแข็ง ภายใต้แรงดึงดูดของโลก อนุภาคขนาดเล็กจะถูกพัดพาให้เคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่าอนุภาคขนาดใหญ่
ภาพที่ 3 การคัดขนาดตะกอนด้วยการพัดพาของน้ำ
ตารางที่ 2 ขนาดของอนุภาคตะกอน
การทับถม (Deposit) เกิดขึ้นเมื่อตัวกลางซึ่งทำให้เกิดการพัดพา เช่น กระแสน้ำ กระแสลม หรือธารน้ำแข็ง อ่อนกำลังลงและยุติลง ตะกอนที่ถูกพัดพาจะสะสมตัวทับถมกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิ ความกดดัน ปฏิกิริยาเคมี และเกิดการตกผลึก หินตะกอนที่อยู่ชั้นล่างจะมีความหนาแน่นสูงและมีเนื้อละเอียดกว่าชั้นบน เนื่องจากแรงกดดันซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำหนักตัวทับถมกันเป็นชั้นๆ (หมายเหตุ: การทับถมบางครั้งเกิดจากการระเหยของสารละลาย ส่วนที่เป็นน้ำระเหยไปในอากาศทิ้งสารที่เหลือให้ตกผลึกไว้เช่นเดียวกับการทำนาเกลือ)
การกลับคืนเป็นหิน (Lithification) เมื่อเศษตะกอนทับถมกันจะเกิดโพรงขึ้นประมาณ 20 – 40% ของเนื้อตะกอน น้ำพาสารละลายเข้ามาแทนที่อากาศในโพรง เมื่อเกิดการทับถมกันจนมีน้ำหนักมากขึ้น เนื้อตะกอนจะถูกทำให้เรียงชิดติดกันทำให้โพรงจะมีขนาดเล็กลงจนน้ำที่เคยมีอยู่ถูกขับไล่ออกไป สารที่ตกค้างอยู่ทำหน้าที่เป็นซีเมนต์เชื่อมตะกอนเข้าด้วยกันกลับเป็นหินอีกครั้ง
ภาพที่ 4 ขั้นตอนที่ตะกอนกลับคืนเป็นหิน
ประเภทของหินตะกอน
นักธรณีวิทยาจำแนกหินตะกอนตามลักษณะการเกิดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. หินตะกอนอนุภาค (Clastic rocks) ได้แก่
หินกรวดมน (Congromorate) เป็นหินเนื้อหยาบเกิดจากตะกอนซึ่งเป็นหิน กรวด ทราย ที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาอยู่รวมกัน สารละลายในน้ำใต้ดินทำตัวเป็นซิเมนต์ประสานให้อนุภาคใหญ่เล็กเหล่านี้ เกาะตัวกันเป็นก้อนหิน
หินทราย (Sandstone) เป็นหินตะกอนเนื้อละเอียดปานกลาง เกิดจากการทับถมตัวของทราย มีองค์ประกอบหลักเป็นแร่ควอรตซ์ คนโบราณใช้หินทรายแกะสลัก สร้างปราสาท และทำหินลับมีด ซากฟอสซิลไดโนเสาร์และปลามักปรากฏให้เห็นในหินทราย
หินดินดาน (Shale) เป็นหินตะกอนเนื้อละเอียดมาก เนื่องจากประกอบด้วยอนุภาคทรายแป้งและอนุภาคดินเหนียวทับถมกันเป็นชั้นบางๆ ขนานกัน เมื่อทุบหินจะแตกตัวตามรอยชั้น ดินเหนียวที่เกิดดินดานใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากหินดินดานเคยเป็นโคลนมาก่อนจึงอาจมีฟอสซิลปรากฏให้เห็นหลายชนิด
ภาพที่ 5 สัดส่วนของหินตะกอนบนเปลือกโลก
2. หินตะกอนเคมี (Chemical sedimentary rocks) ได้แก่
หินปูน (Limestone) เป็นหินตะกอนคาร์บอเนต เกิดจากการทับถมของตะกอนคาร์บอเนตในท้องทะเล ทั้งจากสารอนินทรีย์และซากสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการังและกระดองของสัตว์ทะเล ซึ่งถับถมกันภายใต้ความกดดันและตกผลึกใหม่เป็นแร่แคลไซต์ ซึ่งทำปฏิกิริยากับน้ำฝนซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ภูเขาหินปูนจึงมีถ้ำและหน้าผาสูงชันจำนวนมาก หินปูนใช้ทำเป็นปูนซิเมนต์เพื่อใช้ในการก่อสร้าง
หินเชิร์ต (Chert) หินตะกอนเนื้อแน่น แข็ง เกิดจากการตกผลึกใหม่ เนื่องจากน้ำพาสารละลายซิลิกาเข้าไปแล้วระเหยออก ทำให้เกิดผลึกซิลิกาแทนที่เนื้อหินเดิม หินเชิร์ตมักเกิดขึ้นใต้ท้องทะเล เนื่องจากแพลงตอนที่มีเปลือกเป็นซิลิกาตาย เปลือกของมันจะจมลงทับถมกัน หินเชิร์ตจึงปะปะอยู่ในหินปูน
3. หินตะกอนอินทรีย์ (Organic sedimentary rocks) ได้แก่
ถ่านหิน (Coal) เกิดจากการทับถมของซากพืชที่ยังไม่เน่าเปื่อยไปหมดเนื่องจากสภาวะออกซิเจนต่ำ สภาวะเช่นนี้เกิดตามห้วยหนองคลองบึง ในแถบภูมิอากาศแบบเส้นศูนย์สูตร การทับถมทำให้เกิดการแรงกดดันที่จะระเหยขับไล่น้ำและสารละลายอื่นๆ ออกไป ยิ่งมีปริมาณคาร์บอนมากขึ้นถ่านหินจะยิ่งมีสีดำ ลิกไนต์ (Lignite) เป็นถ่านหินคุณภาพปานกลางมีมากที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง แอนทราไซต์ (Anthracite) เป็นถ่านหินคุณภาพสูง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ตารางที่ 3 ตัวอย่างหินตะกอน
รูป
หิน
หินกรวดมน
Conglomerate
หินทราย
Sandstone
หินดินดาน
Shale
หินปูน
Limestone
หินเชิร์ต
Chert
แร่หลัก
ขึ้นอยู่กับก้อนกรวด
ซึ่งประกอบกันเป็นหิน
ควอตซ์
SiO2
แร่ดินเหนียว
Al2SiO5(OH) 4
แคลไซต์
CaCO3
ซิลิกา
SiO2
ลักษณะ
เนื้อหยาบ
เป็นกรวดมนหลายก้อน เชื่อมติดกัน
เนื้อหยาบสีน้ำตาลสีแดง
เนื้อละเอียดมาก สีเทา ผสมสีแดงเนื่องจากแร่เหล็ก
เนื้อละเอียดมีหลายสี ทำปฏิกิริยากับกรด
เนื้อละเอียด แข็ง สีอ่อน
ที่มา
เกิิดขึ้นจากเม็ดกรวดที่ถูกพัดพาโดยกระแสน้ำแล้วเกาะติดกันด้วยวัสดุประสาน
เกิดขึ้นจากแร่ควอตซ์ในหินอัคนี ผุพังกลายเป็นเม็ดทรายทับถมกัน
เกิดขึ้นจากเฟลด์สปาร์ในหินอัคนีผุพังเป็นแร่ดินเหนียวทับถมกัน
เกิดจากการทับถมของตะกอนคาร์บอนเนตในท้องทะเล
เกิดจากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในท้องทะเล จนซิลิกาเกิดการตกผลึกใหม่