วัฏจักรหิน
นักธรณีวิทยาแบ่งหินออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของการเกิด ได้แก่ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร เมื่อหินหนืดร้อนภายในโลก (Magma) และ หินหนืดร้อนบนพื้นผิวโลก (Lava) เย็นตัวลงกลายเป็น “หินอัคนี” (Igneous rocks) ลมฟ้าอากาศ น้ำ แสงแดด และสิ่งมีชีวิต ทำให้หินผุพังสึกกร่อนเป็นตะกอนทับถมกัน เป็นเวลานานหลายล้านปี แรงดันและปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดการรวมตัวเป็น “หินตะกอน” (Sedimentary rocks) การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกและความร้อนจากแมนเทิลใต้เปลือกโลก ทำให้เกิดการแปรสภาพเป็น “หินแปร” (Metamorphic rocks) กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นวงรอบเรียกว่า “วัฏจักรหิน” (Rock cycle) อย่างไรก็ตามกระบวนการของวัฏจักรหินไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามที่กล่าวมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงของหินอาจเกิดขึ้นย้อนกลับไปมาได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมตามที่แสดงในภาพที่ 1
ภาพที่ 1 วัฏจักรหิน
ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรการเกิดหินสามประเภท ดังนี้
แมกมาใต้เปลือกโลกมีความอุณหภูมิและแรงดันสูงแทรกตัวขึ้นสู่พื้นผิว แมกมาที่ตกผลึกภายในเปลือกโลกกลายเป็นหินอัคนีแทรกซอน (มีผลึกขนาดใหญ่) ส่วนลาวาที่เย็นตัวบนพื้นผิวกลายเป็นหินอัคนีพุ (มีผลึกขนาดเล็ก)
หินทุกชนิดเมื่อผุพัง สึกกร่อน จะถูกพัดพาให้เป็นตะกอนทับถมและกลายเป็นหินตะกอน
หินทุกชนิดเมื่อถูกกดดัน หรือทำให้ร้อน เนื้อแร่จะตกผลึกใหม่กลายเป็นหินแปร
หินทุกชนิดเมื่อจมตัวลงใต้เปลือกโลก จะหลอมละลายกลายเป็นแมกมา แรงดันทำให้มันแทรกตัวขึ้นสู่เปลือกโลกอีกครั้งหนึ่ง และเย็นตัวลงกลายเป็นหินอัคนี
ภาพที่ 2 วัฏจักรการเกิดหินทั้งสามประเภท