แผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกัน

        รอยต่อแผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกัน (Divergent plate boundaries) เกิดขึ้นเนื่องจากแรงดันในชั้นฐานธรณีภาค ดันให้แผ่นธรณีโก่งตัวขึ้นจนเกิดรอยแตก แมกมาอยู่ภายในดันตัวออก ทำให้แผ่นธรณีเคลื่อนที่แยกจากกัน การเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีในลักษณะนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวไม่รุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในระดับตื้น  รอยต่อซึ่งเกิดจากแผ่นธรณีเคลื่อนที่ออกจากกันมี 2 ลักษณะ คือ แผ่นธรณีทวีปเคลื่อนที่ออกจากกัน และแผ่นธรณีมหาสมุทรเคลื่อนที่ออกจากกัน 

แผ่นธรณีทวีปเคลื่อนที่ออกจากกัน

        แรงดันในชั้นฐานธรณีภาคดันให้แผ่นธรณีทวีปโก่งตัว ส่วนยอดของรอยโ่ก่งยืดตัวออกและบางลงจนเกิดรอยแตก และทรุดตัวลงกลายเป็น "หุบเขาทรุด" (Rift valley)  แมกมาผลักให้แผ่นธรณีแยกออกจากกัน ตัวอย่างเช่น ทะเลสาบมาลาวี ในทวีปแอฟริกา และ ทะเลแดง ซึ่งกันระหว่างทวีปแอฟริกากับคาบสมุทรอาหรับ 

ภาพที่ 1 แผ่นธรณีทวีปเคลื่อนที่ออกจากกัน 

แผ่นธรณีมหาสมุทรเคลื่อนที่ออกจากกัน

        แรงดันในชั้นฐานธรณีภาคดันให้แผ่นธรณีมหาสมุทรยกตัวขึ้นเป็นสันเขาใต้สมุทร (Mid oceanic ridge) แล้วเกิดรอยแตกที่ส่วนยอด แมกมาผลักให้แผ่นธรณีมหาสมุทรแยกออกจากกัน ตัวอย่างเช่น สันเขาใต้มหาสมุทรแอตแลนติก 

ภาพที่ 2 แผ่นธรณีมหาสมุทรเคลื่อนที่ออกจากกัน 

 

อายุหินและสนามแม่เหล็ก

        แก่นโลกชั้นในและแก่นโลกชัั้นนอกหมุนไปในทิศทางเดียวกัน แต่ด้วยความเร็วไม่เท่ากัน ถ้าแก่นโลกชั้นในหมุนเร็วกว่าแก่นโลกชั้นนอก จะเกิดแรงเหนี่ยวนำให้เส้นแรงแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่จากขั้วใต้ไปยังขั้วเหนือ (Normal magnetism) แต่ในบางครั้งแก่นโลกชั้นในขยายตัวตามแนวศูนย์สูตร (มีรูปทรงแป้นขึ้น) เป็นสาเหตุให้แก่นโลกชั้นในหมุนช้ากว่าแก่นโลกชั้นนอก ทำให้ให้สนามแม่เหล็กกลับขั้ว (Reverse magnetism) เส้นแรงแม่เหล็กเคลื่อนที่จากขั้วเหนือไปยังขั้วใต้ (คลิกเพื่อชมวีดีโอ)

ภาพที่ 3 การเคลื่อนที่ของแก่นโลกเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กโลก

        เมื่อแมกมาโผล่ขึ้นจากชั้นฐานธรณีภาค กลายเป็นลาวาหินบะซอลต์ไหลบนพื้นผิวโลก อะตอมของธาตุเหล็กที่มีอยู่ในแร่แมกนีไทต์ จะถูกเหนี่ยวนำให้เรียงตัวตามทิศทางของสนามแม่เหล็กโลก  ภาพที่ 4 แสดงให้เห็นว่า ลาวาชั้นล่างมีอายุเก่ากว่าลาวาชั้นบน เพราะเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ลาวาไหลออกมาจากปล่องภูเขาไฟ มันจะบันทึกทิศทางของเส้นแรงแม่เหล็กโลกในยุคสมัยนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเส้นแรงแม่เหล็กโลกสลับทิศทางไปมาในทุกๆ หลายแสนปี เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกสลับขั้วไปมา

ภาพที่ 4 เส้นแรงแม่เหล็กโลกสลับขั้วในลาวาภูเขาไฟ

        ในทำนองเดียวกัน เมื่อแผ่นธรณีมหาสมุทรแยกออกจากกัน ลาวาที่ไหลออกมาก็จะบันทึกทิศทางของสนามแม่เหล็กโลกในยุคนั้นๆ ภาพที่ 5 แสดงให้เห็นว่า เปลือกโลกเคลื่อนที่ออกจากแหล่งกำเนิดในอัตราเฉลี่ย 10 กิโลเมตรต่อล้านปี หรือ 1 เซนติเมตรต่อปี  เปลือกโลกบริเวณใกล้รอยแยกมีอายุน้อยกว่าเปลือกโลกที่อยู่ห่างออกไป  เส้นแรงแม่เหล็กโลกสลับทิศทางไปมาในทุกๆ หลายแสนปี 

ภาพที่ 5 เส้นแรงแม่เหล็กโลกสลับขั้วในลาวาพื้นมหาสมุทร