สมมติฐานที่ 1 ชีวิตเกิดขึ้นเองภายในโลก
โลกของเรามีน้ำเป็นสิ่งมหัศจรรย์ น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดี ในบรรยากาศเมื่อไอน้ำควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำและตกลงมาเป็นฝน น้ำฝนจะทำละลายคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของบรรยากาศโลกในยุคเริ่มแรก ดังนั้นน้ำฝนจึงมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อน้ำฝนตกลงสู่พื้นผิวโลกก็จะทำละลายกับแร่ธาตุทั้งหลาย เกิดประจุนานาชนิด เช่น ประจุคลอไรด์ ประจุซิลิเกต ประจุไนเตรท ประจุฟอสเฟต ฯลฯ แล้วไหลลงไปสะสมกันในมหาสมุทร โมเลกุลของสสารในมหาสมุทรจับตัวกันเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อน เช่น กรดอะมิโน (H2NCHRCOOH, R หมายถึงโมเลกุลอื่นที่จะเชื่อมต่อด้วย) ซึ่งถือว่าเป็นโมเลกุลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต และเมื่อกรดอะมิโนได้รับการกระตุ้นจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ก็อุบัติขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิต
สมมติฐานที่ 2 ชีวิตกำเนิดจากนอกโลก
เมื่อพิจารณาข้อมูลในตารางที่ 2 จะเห็นว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างมีองค์ประกอบเหมือนกับดาวหางและฝุ่นอวกาศ ดาวหางมีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำแข็งและมีสสารอื่นปนอยู่เล็กน้อย มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่่ขอบของระบบสุริยะซึ่งเรียกว่า "เมฆออร์ต" (Oort Cloud) เมื่อมีแรงจากภายนอกมากระทำ เช่น ซูเปอร์โนวา (ดาวระเบิด) ดาวหางจะหลุดออกจากตำแหน่งที่เคยอยู่ และถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงดูดเข้ามาเป็นบริวาร ดาวหางมีวงโคจรเป็นวงรีที่แคบและยาวมาก เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะทำให้น้ำแข็งระเหยและปล่อยอนุภาคที่อยู่ภายในนิวเคลียสออกมาเป็นทางยาวหลายล้านกิโลเมตร เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในวงโคจรของดาวหางก็จะดึงดูดให้อนุภาคเหล่านี้ตกลงสู่พื้นผิวของโลก ดาวหางจึงเปรียบเสมือนนกทะเลที่คาบเมล็ดพืชไปแพร่พันธุ์บนเกาะภูเขาไฟที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในมหาสมุทร ถ้าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตก็จะสามารถเจริญโตเติบโตต่อไปได้