ดาวเนปจูน


ดาวเนปจูน  (Neptune) ถูกค้นพบเนื่องจากนักดาราศาสตร์พบว่า ตำแหน่งของดาวยูเรนัสในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่ได้เป็นไปตามกฏของนิวตันจึงตั้งสมมติฐานว่า จะต้องมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่อยู่ไกลถัดออกไปมารบกวนวงโคจรของดาวยูเรนัส ในที่สุดดาวเนปจูนก็ถูกค้นพบโดย โจฮานน์ กัลเล ในปี พ.ศ.2389  ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ยานวอยเอเจอร์ 2 พบว่า ดาวเนปจูนมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับดาวยูเรนัส คือ มีบรรยากาศเป็นไฮโดรเจนและฮีเลียม และมีมีเทนเจือปนอยู่จึงมีสีน้ำเงิน ดาวเนปจูนมีขนาดเล็กกว่าดาวยูเรนัสเล็กน้อย แต่มีความหนาแน่นมากกว่า โดยที่แก่นของดาวเนปจูนเป็นของแข็งมีขนาดใกล้เคียงกับโลกของเรา  ในช่วงเวลาที่ยานวอยเอเจอร์ 2 เข้าใกล้ดาวเนปจูนได้ถ่ายภาพ จุดมืดใหญ่ (Great dark spot) ทางซีกใต้ของดาวมีขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (ประมาณเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก) จุดมืดใหญ่นี้เป็นพายุหมุนเช่นเดียวกับจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี มีกระแสลมพัดแรงที่สุดในระบบสุริยะ ความเร็วลม 300 เมตร/วินาที หรือ 1,080 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

ดาวเนปจูนมีวงแหวน 4 วง แต่ละวงมีความสว่างไม่มากนัก เพราะประกอบด้วยอนุภาคที่เป็นผงฝุ่นขนาดเล็ก จนถึงขนาดประมาณ 10 เมตร เช่นเดียวกับวงแหวนของดาวพฤหัสบดีและดาวยูเรนัส  ดาวเนปจูนมีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 13 ดวง ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดชื่อ "ทายตัน" (Triton)  ทายตันเคลื่อนที่ในวงโคจรโดยมีทิศทางสวนกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเนปจูน ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเนปจูนจับเป็นบริวารภายหลังจากการก่อตัวของระบบสุริยะ  นักดาราศาสตร์พยากรณ์ว่า ทายตันจะโคจรเข้าใกล้ดาวเนปจูนเรื่อยๆ และจะพุ่งเข้าชนดาวเนปจูนในที่สุด (อาจใช้เวลาเกือบ 100 ล้านปี)

คำอธิบายภาพ


ข้อมูลสำคัญ​

ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 4,498 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 164.8 ปี 
ความรีของวงโคจร 0.0086
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 1.769°
แกนเอียง 29.58°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 16.11 ชั่วโมง
รัศมีของดาว 24,764 กิโลเมตร
มวล 17.147 ของโลก
ความหนาแน่น 1.64 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
แรงโน้มถ่วง 10.71 เมตร/วินาที2
องค์ประกอบหลักของบรรยากาศ ไฮโดรเจน ฮีเลียม
อุณหภูมิ  -214°C
ดวงจันทร์ที่ค้นพบแล้ว 13 ดวง 
วงแหวนที่ค้นพบแล้ว 6 วง

ที่มาของข้อมูลและภาพ NASA's Solar System Lithograph Set