ดาวเคราะห์แคระ
ในปัจจุบันเทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์ก้าวหน้าไปมาก มีการสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่บนพื้นโลก และส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศ เพื่อได้ภาพคมชัดไม่มีกระแสอากาศรบกวน นอกจากนั้นยังมีการสร้างกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดซึ่งสามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กที่มีอุณหภูมิต่ำ จึงทำให้มีการค้นพบวัตถุในแถบคอยเปอร์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวพลูโตเป็นจำนวนมาก เช่น ซีนา เอริส เซดนา วารูนา ฯลฯ ซึ่งถ้าหากเรานับวัตถุพวกนี้เป็นดาวเคราะห์ด้วย ระบบสุริยะของเราก็คงมีดาวเคราะห์หลายสิบดวง ดังนั้นในปี พ.ศ.2549 สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) จึงประกาศนิยามใหม่ของดาวเคราะห์และวัตถุที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ดาวเคราะห์ (Planet) หมายถึง เทหวัตถุที่มีสมบัติต่อไปนี้
โคจรรอบดวงอาทิตย์
มีมวลมากพอที่จะแรงโน้มถ่วงของดาวสามารถเอาชนะความแข็งของเนื้อดาว ส่งผลให้ดาวอยู่ในสภาวะสมดุลไฮโดรสแตติก (hydrostatic equilibrium) เช่น ทรงกลม หรือเกือบกลม
มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ชัดเจน
ไม่เป็นบริวารของดาวเคราะห์ดวงอื่น
ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf Planet) หมายถึง เทหวัตถุที่มีสมบัติดังต่อไปนี้ครบถ้วน
โคจรรอบดวงอาทิตย์
มีมวลมากพอที่จะแรงโน้มถ่วงของดาวสามารถเอาชนะความแข็งของเนื้อดาว ส่งผลให้ดาวอยู่ในสภาวะสมดุลไฮโดรสแตติก (hydrostatic equilibrium) เช่น ทรงกลม หรือเกือบกลม
มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่ชัดเจน
ไม่เป็นบริวารของดาวเคราะห์ดวงอื่น
วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ (Small Solar-System Bodies) หมายถึง เทหวัตถุอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง อุกกาบาต
หากพิจารณาวงโคจรของดาวพลูโต และ เอริส 2003 UB313 (เส้นสีแดง) ในภาพที่ 2 จะเห็นได้ว่า มีวงโคจรรี และคาบเกี่ยวกับดาวเนปจูน (เส้นสีดำวงนอกสุด) จึงถูกจัดประเภทให้เป็นดาวเคราะห์แคระ
ภาพที่ 2 วงโคจรของดาวเคราะห์แคระ
หากพิจารณาขนาดและระยะทางจากดวงอาทิตย์ ตามตารางในภาพที่ 3 มีข้อสังเกตดังนี้
ซีรีส ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญที่สุด มีวงโคจรอยู่ในแถบเข็มขัดดาวเคราะห์น้อย ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ถูกยกระดับขึ้นเป็นดาวเคราะห์แคระ
ดาวพลูโต ครั้งหนึ่งเคยจัดเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ถูกลดระดับเป็นดาวเคราะห์แคระ เนื่องจากวงโคจรซ้อนทับกับดาวเนปจูน
วัตถุคอยเปอร์ขนาดใหญ่ซึ่งถูกค้นใหม่ และมีวงโคจรถัดจากดาวเนปจูนออกไปเข่น ออร์คัส เอริส เซตนา ถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระ
ภาพที่ 3 ตารางแสดงระยะทางและขนาดดาวเคราะห์แคระ