หลังจากที่ดวงอาทิตย์เกิดขึ้น มวลสารรอบๆ ดวงอาทิตย์ (Planetisimal) ยังคงหมุนวนและโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยโมเมนตัมที่มีอยู่เดิม มวลสารในวงโคจรแต่ละชั้นรวมตัวกันกำเนิดเป็นดาวเคราะห์ อิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงทำให้อนุภาคต่างๆ ใกล้เคียง พุ่งเข้าหาดาวเคราะห์จากทุกทิศทาง ถ้าวิถีการเคลื่อนที่มีมุมลึกก็จะพุ่งชนรวมตัวกับดาวเคราะห์ ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนั้นมีขนาดใหญ่และมีมวลเพิ่มขึ้น แต่วิถีการเคลื่อนที่มีตื้น ก็อาจแฉลบเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์ และเกิดการรวมตัวกลายเป็นดวงจันทร์บริวาร ดังจะเห็นว่าดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารหลายดวง เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่มีมวลมากจึงมีแรงโน้มถ่วงมาก ต่างกับดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กมีมวลน้อยมีแรงโน้มถ่วงน้อย จึงไม่มีดวงจันทร์บริวารเลย ส่วนดาวเคราะห์น้อยและดาวหางมีรูปทรงเหมือนก้อนอุกกาบาต เพราะมีขนาดเล็กมีมวลน้อย แรงโน้มถ่วงเข้าหาศูนย์กลางไม่สามารถเอาชนะแรงยึดเหนี่ยวระหว่าง
โมเลกุล ให้ยุบรวมเป็นทรงกลมได้
หลักฐานที่ยืนยันทฤษฏีกำเนิดระบบสุริยะคือ ถ้ามองจากด้านบนของระบบสุริยะ (Top view) จะสังเกตได้ว่า ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดวงจันทร์บริวารเกือบทุกดวง หมุนรอบตัวเองในทิศทวนเข็มนาฬิกา* และโคจรรอบดวงอาทิตย์ในทิศทวนเข็มนาฬิกา** และหากมองจากด้านข้างของระบบสุริยะ (Side view) จะสังเกตได้ว่า ดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารเกือบทุกดวง มีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับระนาบสุริยวิถี (Ecliptic plane) *** ทั้งนี้เนื่องจากระบบสุริยะทั้งระบบกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน ด้วยการยุบรวมและหมุนตัวของจานฝุ่นในโซลาร์เนบิวลา ตามที่กล่าวมา
หมายเหตุ:
แกนดาวของดาวศุกร์เอียง 178° แกนของดาวยูเรนัสเอียง 98° แกนของดาวพลูโตเอียง 120° จึงมองเห็นว่า ดาวเคราะห์ทั้งสามหมุนรอบตัวเองในทิศทางที่แตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะถูกวัตถุขนาดใหญ่ชนขณะที่ระบบสุริยะเริ่มก่อตัว
ดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กบางดวง ไม่เป็นทรงกลม หมุนรอบตัวเอง และมีทิศทางในวงโคจร สวนทางกลับดาวเคราะห์ดวงแม่ ทั้งนี้สันนิษฐานว่า เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์จับมาเป็นบริวารในภายหลัง
ดวงจันทร์ขนาดเล็กบางดวงโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงแม่ โดยมีระนาบเฉียงตัดกับระนาบสุริยวิถี ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์จับมาเป็นบริวารในภายหลัง