ฤดูกาล


          ฤดูกาล (Seasons) เกิดจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยที่แกนของโลกเอียง 23.5° ในฤดูร้อนโลกเอียงขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้ซีกโลกเหนือกลายเป็นฤดูร้อน และซีกโลกใต้กลายเป็นฤดูหนาว หกเดือนต่อมาโลกโคจรไปอยู่อีกด้านหนึ่งของวงโคจร โลกเอียงขั้วใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ (แกนของโลกเอียง 23.5° คงที่ตลอดปี) ทำให้ซีกโลกใต้กลายเป็นฤดูร้อน และซีกโลกเหนือกลายเป็นฤดูหนาว ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 แกนของโลกเอียง 23.5° ขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

          วันที่ 20 - 21 มิถุนายน เป็นวันครีษมายัน (Summer Solstice) โลกหันซีกโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์  ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ (Dec +23.5°) ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วตกช้า เวลากลางวันยาวกว่ากลางคืน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน 

          วันที่ 22 - 23 กันยายน เป็นวันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกและตกตรงทิศตะวันตกพอดี กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ลดลงเมื่อเทียบกับฤดูร้อน ต้นไม้จึงผลัดใบทิ้ง 

          วันที่ 20 - 21 ธันวาคม เป็นวันเหมายัน (Winter Solstice) โลกหันซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์  ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศใต้ (Dec -23.5°) ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว ดวงอาทิตย์ขึ้นช้าตกเร็ว เวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน โลกจึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์น้อยที่สุด  ต้นไม้ในเขตละติจูดสูงทิ้งใบหมด เนื่องจากพลังงานแสงแดดไม่พอสำหรับการสังเคราะห์แสง 

          วันที่ 20 - 21 มีนาคม (Vernal Equinox)  ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกและตกตรงทิศตะวันตกพอดี กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูหนาว ต้นไม้ผลิใบออกมาเพื่อสังเคราะห์แสงผลิตอาหาร  

          ความแตกต่างของช่วงเวลากลางวันและกลางคืนมีอิทธิพลต่อการผลิและผลัดใบในเขตละติจูดสูงๆ เช่น ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ  แต่ในเขตละติจูดต่ำใกล้เส้นศูนย์สูตรจะไม่มีผลมากนัก เนื่องจากดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นมุมสูงใกล้จุดเหนือศีรษะ พื้นผิวโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากตลอดทั้งปี  ต้นไม้จึงไม่ผลัดใบ  

ภาพที่ 2 ลมมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทย 

          ถ้าหากพื้นผิวของโลกมีสภาพเป็นเนื้อเดียวเหมือนกันหมด (ทรงกลมที่สมบูรณ์) ทุกบริเวณของโลกจะมี 4 ฤดูตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามพื้นผิวโลกมีสภาพแตกต่างกัน เช่น ภูเขา ที่ราบ ทะเล มหาสมุทร ซึ่งส่งอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศ ประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ขนาบด้วยมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ จึงตกอยู่ในอิทธิพลของลมมรสุม (Monsoon) ทำให้ประเทศไทยมี 3 ฤดู ดังนี้