ฝนดาวตก


ฝนดาวตก (Meteor shower) หมายถึง ปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่มีดาวตกจำนวนมากตกมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน ฝนดาวตกส่วนมากเกิดขึ้นจากฝุ่นของดาวหาง (ยกเว้นฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเฟธอน 3200) เมื่อดาวหางโคจรรอบดวงอาทิตย์ มันจะปล่อยอนุภาคออกมาเป็นทางยาวทิ้งไว้เป็นทางยาวในวงโคจร เรียกว่า "ธารอุกกาบาต" (Meteor stream) ดังแสดงในภาพที่ 1  ดาวหางที่มีขนาดใหญ่พ่นมวลสารภายในออกมา เกิดเป็นธารอุกกาบาตขนาดใหญ่ซึ่งมีอนุภาคจำนวนมาก  ดาวหางที่มีขนาดเล็กและเก่าแก่มีธารอุกกาบาตขนาดเล็กและมีอนุภาคจำนวนน้อย ดาวหางบางดวง เช่น ดาวหางฮัลเลย์มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ฝนดาวตก   แต่ถ้าดาวหางผ่านมาพร้อมกับที่โลกโคจรเข้าไปพอดี ดาวหางจะชนโลกทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกเหมือนดังเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ฝุ่นและก๊าซที่เกิดจากการระเบิดปกคลุมพื้นผิวของโลกนานหลายเดือนจนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้ห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศถูกทำลาย   ถ้าหากโลกโคจรผ่านเข้าไปในธารอุกกาบาตขณะที่ดาวหางเพิ่งผ่านไป ทำให้เกิดฝนดาวตกจำนวนมาก  แต่ถ้าหากดาวหางโคจรผ่านไปนานแล้วก่อนที่โลกจะโคจรเข้าไป ฝนดาวตกก็จะมีจำนวนน้อย 

ภาพที่ 1 ธารอุกกาบาตตัดวงโคจรโลก 

ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไปตรงที่ดาวตกทั่วไปมีจำนวนน้อย (แต่ละคืนมีดาวตกให้เห็นเพียงไม่กี่ดวง) และไม่ได้ตกลงมาจากจุดเดียวกัน แต่ฝนดาวตกจะมีดาวตกจำนวนมาก (คืนละหลายสิบดวงถึงหลายหมื่นดวงขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของธารอุกกาบาต)  เมื่อเราเห็นดาวตกแต่ละดวงตกลงมาจากฟ้าแล้วลากเส้นย้อนกลับทิศทางที่ดาวตกแต่ละดวงตกลงมา จะพบว่าแต่ละเส้นตัดกันที่บริเวณเดียวกันเรียกว่า "เรเดียนท์" (Radiant)  ฝนดาวตกมีชื่อเรียกตามตำแหน่งของเรเดียนท์ในกลุ่มดาว เช่น ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) มีเรเดียนท์อยู่ในกลุ่มดาวสิงห์โต (Leo), ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) มีเรเดียนท์อยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini), และฝนดาวตกโอไรออนิดส์มีเรเดียนอยู่กลุ่มดาวนายพราน (Orion) ดังภาพที่ 2  แสดงให้เห็นเรเดียนท์ของฝนดาวตกเจมินิดส์ 

ภาพที่ 2 เรเดียนท์ของฝนดาวตกโอไรออนิดส์ในกลุ่มดาวนายพราน

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ดังนั้นการดูฝนดาวตกจึงสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า โดยดูจากปฏิทินฝนดาวตกในภาพที่ 3 โดยเลือกดูฝนดาวตกที่ไม่เกิดขึ้นในฤดูฝน และมีจำนวนดาวตกมาก (หมายเหตุ: ฝนดาวตกลีโอนิดส์มีมากทุก 33 ปี*)  

ภาพที่ 3 ปฏิทินฝนดาวตก

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญอีกสามประการที่ต้องพิจารณาคือ สภาพอากาศ เวลาขึ้นตกของดวงจันทร์ และเลือกสถานที่มืดปราศจากแสงรบกวน เพราะฝนดาวตกไม่สว่างมาก ไม่สามารถสู้แสงจันทร์หรือแสงจากเมืองได้ ยกเว้นดาวตกดวงใหญ่ที่เรียกว่า "ไฟร์บอล" (Fireball) ซึ่งนานๆ ครั้งจะมีให้เห็นดังเช่นในภาพที่ 4 

ภาพที่ 4 ไฟร์บอล

ในการดูฝนดาวตกไม่จำเป็นต้องจ้องมองที่เรเดียนท์ เพราะตอนที่ดาวตกจากมาจากเรเดียนท์นั้นเรายังมองไม่เห็น  ดาวตกจะเกิดแสงสว่างต่อเมื่อเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจนเกิดการลุกไหม้แล้วเท่านั้น  ดาวตกอาจจะตกข้ามศีรษะเราไปปรากฏสว่างให้เห็นในทิศทางใดก็ได้ ดังนั้นการดูฝนดาวตกควรนอนหงายแล้วกวาดมองไปให้ทั่วท้องฟ้า เพราะไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่า ดาวตกจะปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาและทิศทางใด อย่างไรก็ตามเราจะเห็นดาวตกจำนวนมากเมื่อเรเดียนท์อยู่ในตำแหน่งใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุด เพราะดาวตกสามารถตกกระจายไปทั่วท้องฟ้าทุกทิศทาง