จักรราศี
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 1 ปี ทำให้ตำแหน่งปรากฎของดวงอาทิตย์ผ่านหน้ากลุ่มดาวในแนวสุริยวิถีดังภาพที่ 1 ยกตัวอย่าง ในเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์อยู่หน้ากลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) หนึ่งเดือนต่อมาเรามองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ในทิศทวนเข็มนาฬิกาไป 30° อยู่หน้ากลุ่มดาวปู (ราศีกรกฏ) ซึ่งอยู่ถัดไป 30° เช่นกัน เราเรียกกลุ่มดาวซึ่งบอกตำแหน่งดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือนว่า “จักรราศี” (Zodiac) ผู้คนในสมัยก่อนใช้กลุ่มดาวจักรราศีเป็นปฏิทินในการกำหนดเดือน โดยการเปรียบเทียบตำแหน่งของดวงอาทิตย์กับตำแหน่งของกลุ่มดาวจักรราศีบนทรงกลมฟ้า โดยถือเอาเส้นสุริยวิถีเป็นเส้นรอบวง 360° หารด้วยจำนวนกลุ่มดาวประจำราศีทั้ง 12 กลุ่ม ซึ่งห่างกันกลุ่มละ 30° (30° x 12 = 360°)
ภาพที่ 1 ตำแหน่งของดวงอาทิตย์หน้ากลุ่มดาวจักรราศี
ถ้าแกนหมุนของโลกตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ เส้นศูนย์สูตรฟ้ากับเส้นสุริยวิถีจะเป็นเส้นเดียวกัน และเราจะเห็นดวงอาทิตย์และกลุ่มดาวจักราศีอยู่บนเส้นศูนย์สูตรฟ้าตลอดเวลา ทว่าในความเป็นจริง แกนของโลกเอียง 23.5° กับแนวตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ เราจึงเห็นกลุ่มดาวจักรราศีเรียงตัวอยู่บนเส้นสุริยวิถี ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปทางทิศเหนือหรือใต้ เป็นระยะเชิงมุมไม่เกิน 23.5° ดังภาพที่ 2 และ 3
ภาพที่ 2 ระนาบสุริยวิถี
ภาพที่ 3 กลุ่มดาวจักรราศี
ทั้งนี้ หากเราเปรียบเทียบจุดต่างๆ กับตำแหน่งกลุ่มดาวจักรราศีในแผนที่ดาวจะพบว่า
วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox, อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ผลิ) อยู่ในกลุ่มดาวปลา หรือ ราศีมีน
ครีษมายัน (Summer Solstice, โซลสทิสฤดูร้อน) อยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ หรือ ราศีเมถุน
ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox, อีควินอกซ์ฤดูใบไม้ร่วง) อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว หรือ ราศีกันย์
เหมายัน (Winter Solstice, โซลสทิสฤดูหนาว) อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู หรือ ราศีธนู