การสังเกตกลุ่มดาวสว่าง
แม้จะมีกลุ่มดาวบนท้องฟ้าอยู่ถึง 88 กลุ่ม แต่มีกลุ่มดาวสว่างเพียงสิบกว่ากลุ่มที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้น และกลุ่มดาวเหล่านี้ก็มิได้มีให้เห็นตลอดเวลา เนื่องเพราะโลกหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์ กลุ่มดาวสว่างแต่ละกลุ่มจะปรากฏให้เห็นเพียงเฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น
การหาจากกลุ่มดาวหมีใหญ่
ในการเริ่มต้นดูดาว เราต้องจับจุดจากดาวฤกษ์ที่สว่างก่อน แล้วจึงค่อยมองหารูปทรงของกลุ่มดาว สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ การเคลื่อนที่ของท้องฟ้า เราจะต้องหาทิศเหนือให้พบ แล้วสังเกตการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาว จากซีกฟ้าตะวันออกไปยังซีกฟ้าตะวันตก เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ประกอบด้วยดาวสว่างเจ็ดดวง เรียงตัวเป็นรูปกระบวยขนาดใหญ่ ดาวสองดวงแรกชาวยุโรปเรียกว่า "เดอะ พอยเตอร์" (The Pointer) หมายถึง ลูกศรที่ชี้เข้าหา ดาวเหนือ (Polaris) อยู่ตลอดเวลา โดยดาวเหนือจะอยู่ห่างจากดาวสองดวงแรกนั้น นับเป็นระยะเชิงมุมสี่เท่า ของระยะเชิงมุมระหว่างดาวสองดวงนั้น ดาวเหนืออยู่ในส่วนปลายหางของ กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) ซึ่งประกอบด้วยดาวไม่สว่าง เรียงตัวเป็นรูปกระบวยเล็ก แม้ว่าดาวเหนือจะมีความสว่างไม่มากนัก แต่ในบริเวณขั้วฟ้าเหนือก็ไม่มีดาวใดสว่างไปกว่าดาวเหนือ ดังนั้นดาวเหนือจึงมีความโดดเด่นพอสมควร เมื่อเราทราบตำแหน่งของดาวเหนือ เราก็จะทราบทิศทางการหมุนของทรงกลมท้องฟ้า หากเราหันหน้าเข้าหาดาวเหนือ ทางขวามือจะเป็นทิศตะวันออก และทางซ้ายมือจะเป็นทิศตะวันตก กลุ่มดาวทั้งหลายจะเคลื่อนที่จากทางขวามือไปตกทางซ้ายมือ ในขั้นตอนต่อไปเราจะตั้งหลักที่กลุ่มดาวหมีใหญ่ วาดเส้นโค้งตาม "หางหมี" หรือ "ด้ามกระบวย" ต่อออกไปยัง ดาวดวงแก้ว (Arcturus) หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดาวมหาจุฬามณี” เป็นดาวสีส้มสว่างมากใน "กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์" (Bootes) และหากลากเส้นอาร์คโค้งต่อไปอีกเท่าตัว ก็จะเห็นดาวสว่างสีขาวชื่อว่า ดาวรวงข้าว (Spica) อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) หรือราศีกันย์ กลุ่มดาวนี้จะมีดาวสว่างประมาณ 7 ดวงเรียงตัวเป็นรูปตัว Y อยู่บนเส้นสุริยวิถี กลับมาที่กลุ่มดาวหมีใหญ่อีกครั้ง ดาวดวงที่ 4 และ 3 ตรงส่วนของกระบวยจะชี้ไปยังดาวหัวใจสิงห์ (Regulus) ในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) หรือราศีสิงห์ พึงระลึกไว้ว่า กลุ่มดาวจักราศีจะอยู่บนเส้นสุริยวิถีเสมอ ถ้าเราพบกลุ่มดาวราศีหนึ่ง เราก็สามารถไล่หากลุ่มดาวราศีของเดือนอื่นซึ่งเรียงถัดไปได้ เช่น ในภาพที่ 1 เราเห็นกลุ่มดาวราศีสิงห์ และกลุ่มดาวราศีกันย์ เราก็สามารถประมาณได้ว่ากลุ่มดาวราศีกรกฏและราศีตุลย์จะอยู่ทางไหน
ภาพที่ 1 กลุ่มดาวสว่างรอบกลุ่มดาวหมีใหญ่
สามเหลี่ยมฤดูหนาว
ในช่วงของหัวค่ำของฤดูหนาวมีกลุ่มดาวสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก คือ กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ และกลุ่มดาวสุนัขเล็ก หากลากเส้นเชื่อม ดาวบีเทลจุส (Betelgeuse) - ดาวสว่างสีแดงตรงหัวไหล่ของนายพรานไปยัง ดาวซิริอุส (Sirius) – ดาวฤกษ์สว่างที่สุดสีขาว ตรงหัวสุนัขใหญ่ และ ดาวโปรซีออน (Procyon) - ดาวสว่างสีขาวตรงหัวสุนัขเล็ก จะได้รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เรียกว่า "สามเหลี่ยมฤดูหนาว" (Winter Triangle) ซึ่งจะขึ้นในเวลาหัวค่ำของฤดูหนาว
กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นหัดดูดาวมากที่สุด เนื่องจากประกอบด้วยดาวสว่าง ที่มีรูปแบบการเรียงตัว (pattern) ที่โดดเด่นจำง่าย และขึ้นตอนหัวค่ำของฤดูหนาว ซึ่งมักมีสภาพอากาศดี ท้องฟ้าใส ไม่มีเมฆปกคลุม สัญลักษณ์ของกลุ่มดาวนายพรานคือ ดาวสว่างสามดวงเรียงกันเป็นเส้นตรงเรียกว่า "เข็มขัดนายพราน" (Orion’s belt) ทางทิศใต้ของเข็มขัดนายพรานมีดาวเล็ก ๆ สามดวงเรียงกัน คนไทยเราเห็นเป็นรูป "คันไถ" แต่ชาวยุโรปเรียกว่า "ดาบนายพราน" (Orion’s sword) ที่ตรงกลางของบริเวณดาบนายพรานนี้ ถ้านำกล้องส่องดูจะพบ "เนบิวลา M42" เป็นกลุ่มแก๊สในอวกาศกำลังรวมตัวเป็นดาวเกิดใหม่ ซึ่งอยู่ตรงใจกลางและส่องแสงมากระทบเนบิวลาทำให้เรามองเห็น
ดาวสว่างสองดวงที่บริเวณหัวไหล่ด้านทิศตะวันออกและหัวเข่าด้านทิศตะวันตกของกลุ่มดาวนายพราน มีสีซึ่งแตกต่างกันมาก ดาวบีเทลจุสมีสีออกแดง แต่ดาวไรเจล (Rigel) มีสีออกน้ำเงิน สีของดาวบอกถึงอุณหภูมิของดาว ดาวสีน้ำเงินเป็นดาวที่มีอุณหภูมิสูงเกือบ 20,000° C ดาวสีแดงเป็นดาวที่มีอุณหภูมิต่ำประมาณ 3,000° C ส่วนดวงอาทิตย์ของเรามีสีเหลือง เป็นดาวฤกษ์ซึ่งมีอุณหภูมิที่พื้นผิวประมาณ 6,000° C ในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ (Canis Major) มีดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้ามีชื่อว่า ดาวซิริอุส (Sirius) คนไทยเรียกว่า "ดาวโจร" (เนื่องจากสว่างจนทำให้โจรมองเห็นทางเข้ามาปล้น) ดาวซิริอุสมิได้มีขนาดใหญ่ แต่ว่าอยู่ห่างจากโลกเพียง 8.6 ล้านปีแสง ถ้าเทียบกับดาวไรเจลในกลุ่มดาวนายพรานแล้ว ดาวไรเจลมีขนาดใหญ่และมีความสว่างกว่าดาวซิริอุสนับพันเท่า หากแต่ว่าอยู่ห่างไกลถึง 777 ล้านปีแสง เมื่อมองดูจากโลก ดาวไรเจลจึงมีความสว่างน้อยกว่าดาวซิริอุส
ภาพที่ 2 สามเหลี่ยมฤดูหนาว
สามเหลี่ยมฤดูร้อน
ในช่วงหัวค่ำของต้นฤดูหนาวมีกลุ่มดาวสว่างทางด้านทิศตะวันตก คือ กลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวหงส์ และกลุ่มดาวนกอินทรีย์ หากลากเส้นเชื่อม ดาวเวก้า (Vega) - ดาวสว่างสีขาวในกลุ่มดาวพิณไปยัง ดาวหางหงส์ (Deneb) - ดาวสว่างสีขาวในกลุ่มดาวหงส์ และ ดาวนกอินทรี (Altair) - ดาวสว่างสีขาวในกลุ่มดาวนกอินทรีย์ จะได้รูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่าเรียกว่า "สามเหลี่ยมฤดูร้อน" (Summer Triangle) ซึ่งอยู่ในทิศตรงข้ามกับสามเหลี่ยมฤดูหนาว สามเหลี่ยมฤดูร้อนกำลังตกขณะที่สามเหลี่ยมฤดูหนาวกำลังขึ้น ในคืนที่เป็นข้างแรมไร้แสงจันทร์รบกวน หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีแถบฝ้าสว่างคล้ายเมฆขาวพาดข้ามท้องฟ้า ผ่านบริเวณกลุ่มดาวนกอินทรี กลุ่มดาวหงส์ ไปยังกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (ค้างคาว) แถบฝ้าสว่างที่เห็นนั้นแท้ที่จริงคือ ทางช้างเผือก (The Milky Way)
ภาพที่ 3 สามเหลี่ยมฤดูร้อน