ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Satellite) ติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพบรรยากาศโลกจากมุมสูงระยะทางไกล ทำให้มองเห็นภาพรวมของสภาพอากาศซึ่งปกคลุมเหนือพื้นผิว ตลอดจนทิศทางการเปลี่ยนแปลง ทำให้สามารถช่วยเตือนภัยและพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาแบ่งตามวงโคจรได้เป็น 2 ชนิดคือ คือ
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Meteorological Satellite) โคจรรอบโลกใช้เวลา 24 ชั่วโมง ไปพร้อมๆ กับการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้ตำแหน่งดาวเทียมจะสัมพันธ์กับตำแหน่งบนพื้นโลกในบริเวณเดิมเสมอ ดาวเทียมชนิดนี้จะอยู่ในตำแหน่งเส้นศูนย์สูตรของโลกมีความสูงจากพื้นโลกประมาณ 35,800 กิโลเมตร ทำให้ได้ภาพถ่ายที่ปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง คลอบคลุมทั้งทวีปและมหาสมุทร สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ โดยถ่ายภาพซ้ำเพื่อทำการเปรียบเทียบ ดาวเทียมชนิดนี้ ได้แก่ GOES, MTSAT ดังตัวอย่างในภาพที่ 1
ภาพที่ 1 ภาพถ่ายจากดาวเทียม MTSAT
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาวงโคจรใกล้ขั้วโลก (Near Polar Orbiting Meteorological Satellite) เป็นดาวเทียมที่มีระดับความสูงจากพื้นโลกเพียง 850 กิโลเมตร จึงให้ภาพรายละเอียดสูง แต่ปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณแคบๆ จึงเหมาะสำหรับใช้สังเกตรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศระดับภูมิภาค ดังตัวอย่างในภาพที่ 2
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายจากดาวเทียม NOAA
หมายเหตุ: ท่านสามารถติดตามข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาได้ที่ http://www.sattmet.tmd.go.th/newversion/mergesat.html