เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กองทัพอากาศ โดย โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดการแข่งขัน CanSat Thailand 2017 ให้เยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าแข่งขันการสร้างและพัฒนาดาวเทียมกระป๋อง หรือ “CanSat” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ มุ่งเน้นการปฏิบัติการจริง ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM) ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัล The Best Scientific Award ชื่อทีม SatelDust เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ซึ่งประกอบด้วย นางสาวภัททิยา พิบูลจินดา, นางสาวมทินา เจริญวัฒน์, นายธนิสร อุ่นปิติพงษา โดยมี นายเทพรักษ์ วี ปาลมา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภาพที่ 1 ผู้ชนะเลิศ CanSat Thailand 2017 ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ได้ประสานงานกับ องค์การอวกาศรัสเซีย “ROSCOSMOS” ขอส่งนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มนี้ เดินทางไปร่วมกิจกรรม ROSCANSAT ในโครงการ Air Engineering School ที่เมืองวลาดิเมียร์ ประเทศรัสเซีย โดยมีองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทาง ในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2561 และได้รับเกียรติให้นำเสนอโครงงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ลักษณะของฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ได้จากแคนแซท” (Characterization of the Atmospheric Airborne Dust Collected by CanSat) ที่ Vladimir State University ซึ่งเป็นที่สนใจต่อตัวแทนครูและนักเรียนจากรัฐต่างๆ ของประเทศรัสเซีย ที่เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 200 คน เนื่องจากนักเรียนไทยสามารถบูรณาการความรู้ด้านชีววิทยาเข้ากับงานด้านวิศวกรรม แตกต่างจากนักเรียนรัสเซียซึ่งเน้นงานด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว ภาพที่ 2 นำเสนองานที่ Vladimir State University หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม ROSCANSAT คณะฯ ได้เดินทางเข้ากรุงมอสโคว์ และได้รับเชิญไปร่วมประชุมและดูงานที่ Moscow Aviation Institute (MAI) ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการศึกษาวิจัยสร้างดาวเทียมและยานอวกาศของรัสเซีย จึงได้มีโอกาสศึกษาการสร้างยานอวกาศอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังได้ไปชมนิทรรศการอวกาศที่ VDNH Exhibition Center ซึ่งประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้เดินทางมาเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ภาพที่ 3 ยานสำรวจดวงจันทร์ ที่สถาบัน MAI ในปีการศึกษา 2018 ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) โดยการสนับสนุนของกองทัพอากาศ ได้ร่วมมือกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และอีกหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรม CanSat Thailand 2018 ขึ้นอีกครั้ง โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค.61 เพื่อคัดเลือกเข้าค่ายฝึกอบรมที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รังสิต คลอง 5 และเดินทางไปปฏิบัติกิจกรรมภาคสนามที่ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page LESA และเว็บไซต์ www.nstda.or.th/cansat หรือสอบถามโดยตรงที่ โทร. 02-577-9999 ต่อ 1414 อีเมล์ competition@nsm.or.th และ cansat@nstda.or.th ภาพที่ 4 แถลงข่าว CanSat Thailand 2018 |
ข่าว >