ข่าว
ROSCANSAT เด็กไทยไปรัสเซีย
เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กองทัพอากาศ โดย โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดการแข่งขัน CanSat Thailand 2017 ให้เยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าแข่งขันการสร้างและพัฒนาดาวเทียมกระป๋อง หรือ “CanSat” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ มุ่งเน้นการปฏิบัติการจริง ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM) ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัล The Best Scientific Award ชื่อทีม SatelDust เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ซึ่งประกอบด้วย นางสาวภัททิยา พิบูลจินดา, นางสาวมทินา เจริญวัฒน์, นายธนิสร อุ่นปิติพงษา โดยมี นายเทพรักษ์ วี ปาลมา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภาพที่ 1 ผู้ชนะเลิศ CanSat Thailand 2017 ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ได้ประสานงานกับ องค์การอวกาศรัสเซีย “ROSCOSMOS” ขอส่งนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มนี้ เดินทางไปร่วมกิจกรรม ROSCANSAT ในโครงการ Air Engineering School ที่เมืองวลาดิเมียร์ ประเทศรัสเซีย โดยมีองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทาง ในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2561 และได้รับเกียรติให้นำเสนอโครงงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ลักษณะของฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ได้จากแคนแซท” (Characterization of the Atmospheric Airborne Dust Collected by CanSat) ที่ Vladimir State University ซึ่งเป็นที่สนใจต่อตัวแทนครูและนักเรียนจากรัฐต่างๆ ของประเทศรัสเซีย ที่เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 200 คน เนื่องจากนักเรียนไทยสามารถบูรณาการความรู้ด้านชีววิทยาเข้ากับงานด้านวิศวกรรม แตกต่างจากนักเรียนรัสเซียซึ่งเน้นงานด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว ภาพที่ 2 นำเสนองานที่ Vladimir State University หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม ROSCANSAT คณะฯ ได้เดินทางเข้ากรุงมอสโคว์ และได้รับเชิญไปร่วมประชุมและดูงานที่ Moscow Aviation Institute (MAI) ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการศึกษาวิจัยสร้างดาวเทียมและยานอวกาศของรัสเซีย จึงได้มีโอกาสศึกษาการสร้างยานอวกาศอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังได้ไปชมนิทรรศการอวกาศที่ VDNH Exhibition Center ซึ่งประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้เดินทางมาเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ภาพที่ 3 ยานสำรวจดวงจันทร์ ที่สถาบัน MAI ในปีการศึกษา 2018 ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) โดยการสนับสนุนของกองทัพอากาศ ได้ร่วมมือกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และอีกหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรม CanSat Thailand 2018 ขึ้นอีกครั้ง โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค.61 เพื่อคัดเลือกเข้าค่ายฝึกอบรมที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รังสิต คลอง 5 และเดินทางไปปฏิบัติกิจกรรมภาคสนามที่ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page LESA และเว็บไซต์ www.nstda.or.th/cansat หรือสอบถามโดยตรงที่ โทร. 02-577-9999 ต่อ 1414 อีเมล์ competition@nsm.or.th และ cansat@nstda.or.th ภาพที่ 4 แถลงข่าว CanSat Thailand 2018 |
แนะนำเว็บไซต์ Stuff in Space
Stuff in Space เป็นเว็บไซต์แสดงผลในรูปแบบสามมิติของดาวเทียมที่โคจรรอบโลกตามเวลาจริงและแสดงข้อมูลของดาวเทียม เช่น สถานะของดาวเทียม ความสูงจากพื้นโลก อัตราเร็ว คาบการโคจร เป็นต้น เว็บไซต์นี้จะอัปเดตข้อมูลวงโคจรของวัตถุที่โคจรรอบโลกทุกวัน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้ที่ stuffin.space |
สถานีอวกาศนานาชาติ ISS โคจรผ่านดอยอินทนนท์
![]() สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าเมื่อวันที่ 15 ก.พ.61 ระหว่างเวลา 19:04 - 19:14 ณ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ บันทึกโดย น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว |
ฝนดาวตกเจมินิดส์
![]() ชื่อภาพ: ฝนดาวตกเจมินิดส์ วันเวลา: 13 ธ.ค.60, 22:53 อุปกรณ์: Sony a7s camera, 21mm f/2.8 lens ความไวแสง: ISO 6400 ความเร็วชัตเตอร์: 15 วินาที สถานที่: พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ - นภเมทนีดล ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ช่างภาพ: น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว - น.ส.ลักษมี กรูเนคค์ |
CanSat Thailand 2017
![]() ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ร่วมมือกับ โรงเรียนนายเรืออากาศ นวมินทกษัตริยาธิราช (รร.นนก.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ UNISEC Thailand จัดการแข่งขัน CanSat Thailand 2017 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน CanSat ในระดับนานาชาติ โดยจะมีการแข่งขันภาคสนามที่ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/cansat2017/ |
ขยะอวกาศพุ่งชนดาวเทียม Telkom-1 ของอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ขยะอวกาศพุ่งชนดาวเทียมสื่อสาร Telkom-1 ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งโคจรอยู่ที่วงโคจร Geo Synchronous Orbit ที่ระยะสูง 35,780 กิโลเมตร ลองกิจูด 105 องศาตะวันออก ทำให้เสาอากาศชำรุดเสียหาย |
1st Thailand Conference on Space Situational Awareness
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) จัดงานประชุมวิชาการ 1st Thailand Conference on Space Situational Awareness ณ ห้องนภัสวิน อาคารสโมสรนักเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ดอนเมือง กรุงเทพ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ก.ค.๖๐ ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมได้ที่ https://goo.gl/jNLtUU |
LESA T-shirt
เสื้อ LESA สีฟ้าสดใสมีหลายขนาดให้เลือก ในราคาเพียง 280 บาท สนใจสั่งซื้อหรือสอบถามเพิ่มเติมที่ vanida@lesa.biz หรือ https://www.facebook.com/puay.pinky ด่วน! สินค้ามีจำนวนจำกัด |
JAXA ส่งยานอวกาศ Hayabusa-2
องค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAXA) จะส่งยานอวกาศ Hayabusa-2 ไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย (162173) 1999 JU3 โดยจะทำการถ่ายทอดสดจากจากฐานยิงจรวด Tanegashima Space Center ในวันพุธที่ ๓ พ.ย.๕๗ เวลาในประเทศไทย 11:22 สามารถติดตามชมได้ที่ http://global.jaxa.jp/projects/sat/hayabusa2/index.html |