Stellarium

        Stellarium เป็นซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองเสมือนจริง ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังเป็นซอฟต์แวร์ประเภท Open Source ที่เปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมทีมเพื่อพัฒนาต่อยอดได้อีกด้วย โดยอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ GNU General Public License (GUN GPL) ท่านสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ stellarium.org ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 เว็บไซต์ stellarium.org

         Stellarium ถูกพัฒนาให้สามารถรองรับระบบปฏิบัติการได้หลากหลาย ตั้งแต่ Linux, Mac OS, Windows และ Ubantu โดยมีความต้องการทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังนี้
 
            • ระบบปฏิบัติการ : Linux/Unix; Windows XP/Vista/7/8; 64-bit; OS X 10.7.0 หรือสูงกว่า
            • การ์ดจอ: รองรับ OpenGL 2.1 หรือสูงกว่า
            • หน่วยความจำ RAM: 1 GB หรือมากกว่า
            • พื้นที่บน Hard Disk: 1.5 GB หรือมากกว่า
 
การติดตั้งซอฟต์แวร์ Stellarium
        เริ่มจากเข้าไปดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุดจากเว็บไซต์ stellarium.org โดยคลิกเลือกจากรูประบบปฏิบัติการที่เราใช้งาน ดังภาพที่ 2
 
ภาพที่ 2 เลือกดาวน์โหลด Stellarium ตามระบบปฏิบัติการที่ต้องการ

        เมื่อได้ไฟล์สำหรับติดตั้งแล้ว ให้ดับเบิลคลิกที่ไฟล์ติดตั้งเพื่อเริ่มกระบวนการติดตั้งซอฟต์แวร์ ทำตามกระบวนการไปเรื่อยๆ จนการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ หลังจากการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว จะปรากฏไอคอน ที่หน้าเดสท็อป เมื่อเปิดซอฟต์แวร์ขึ้นมาในครั้งแรก ซอฟต์แวร์จะแสดงท้องฟ้าที่เมือง Paris ดังในภาพที่ 3
 
ภาพที่ 3 ท้องฟ้าที่เมือง Paris เมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรก

        ดังนั้นก่อนการใช้งาน Stellarium ครั้งแรก เราต้องมีการปรับตั้งค่า Configurations ต่างๆ ของซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับการสังเกตการณ์ของเราเสียก่อน โดยในหัวข้อต่อไปจะอธิบายถึงแถบเครื่องมือต่างๆ ของ Stellarium

รู้จักกับแถบเครื่องมือของ Stellarium
        เครื่องมือสำหรับปรับตั้งค่าต่างๆ ของ Stellarium จะถูกซ้อนไว้บริเวณมุมด้านขวาและด้านล่างของซอฟต์แวร์ เมื่อเราเลื่อนเมาส์ไปวางอยู่เหนือบริเวณดังกล่าว แถบเครื่องมือก็จะปรากฏออกมา ดังภาพที่ 4
 
ภาพที่ 4 แถบเครื่องมือ Stellarium

        แถบเครื่องมือของ Stellarium จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แถบเครื่องมือในแนวตั้ง และแถบเครื่องมือในแนวนอน โดยรายละเอียดของเครื่องมือแต่ละตัวจะแสดงในตารางที่ 1 และตารางที่ 2

                            ตารางที่ 1 รายละเอียดของแถบเครื่องมือในแนวตั้ง


 
                            ตารางที่ 2 รายละเอียดของแถบเครื่องมือในแนวนอน

 
การปรับตั้งตำแหน่งของผู้สังเกต
        การเริ่มต้นใช้งานจำเป็นต้องปรับตั้งตำแหน่งของผู้สังเกตใหม่ โดยเลือนเมาส์ไปยังแถบเครื่องมือแนวตั้ง เลือกคลิกที่เครื่องมือ  หรือ กด F6 เพื่อเปิดหน้าต่าง Location ขึ้นมา จากนั้นเลือกตำแหน่งของผู้สังเกตใหม่ตามต้องการ โดยเลือกได้ 3 วิธี ดังแสดงในภาพที่ 5
 
ภาพที่ 5 วิธีการเลือกระบุตำแหน่งของผู้สังเกต

        หลังจากเปลี่ยนตำแหน่งผู้สังเกตแล้ว หากต้องการให้โปรแกรมจำตำแหน่งที่เลือกไว้เป็นค่าเริ่มต้นทุกครั้งที่เปิดใช้โปรแกรมใหม่ ให้คลิกเครื่องหมายถูกที่ Use as default ด้วยนะครับ เมื่อเลือกตำแหน่งของผู้สังเกตใหม่แล้ว Stellarium จะแสดงภาพท้องฟ้าและตำแหน่งของดาวที่สามารถมองเห็นได้จากตำแหน่งของผู้สังเกต ตามเวลาของเครื่องคอมพิวเตอร์ในขณะนั้น ดังภาพที่ 6
 
ภาพที่ 6 Stellarium จะแสดงภาพท้องฟ้าและตำแหน่งของดาวที่สามารถเห็นได้จากตำแหน่งของผู้สังเกต

การปรับเปลี่ยนเวลา
        เราสามารถหยุดเวลาหรือปรับเปลี่ยนเวลาได้ โดยเลื่อนเมาส์มาที่แท็บเครื่องมือแนวนอน เลือก 
หรือ กด J หากต้องการย้อนเวลา เราสามารถเร่งความเร็วได้โดยการคลิกซ้ำหลายๆ ครั้ง เมื่อต้องการกลับมาสู่ความเร็วปกติให้เลือก   หรือกด K และหากต้องการเร่งเวลาให้เร็วขึ้นก็ให้เลือก  เร่งความเร็วได้โดยการคลิกซ้ำหลายๆ ครั้งเช่นกัน สุดท้าย หากต้องการกลับมายังวันเวลาปัจจุบันให้เลือกที่   
 
        อย่างไรก็ตาม การเร่งหรือย้อนเวลานั้นจะแสดงให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของดาวและเทหวัตถุต่างๆ บนท้องฟ้าได้ชัดเจนขึ้น แต่อาจไม่เหมาะสมกับการย้อนกลับไปดูปรากฏการดาราศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หากเราต้องการย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือการคาดการณ์ในอนาคต เราสามารถเลือกวันเวลาที่เราต้องการจากเครื่องมือ  ในแถบเครื่องมือแนวตั้ง หรือกด F5 หน้าต่าง Date and Time จะปรากฏขึ้นดังภาพที่ 7
 
ภาพที่ 7 แถบ ปี เดือน วัน ชั่วโมง นาที วินาที

การแสดงเส้นอ้างอิงบนท้องฟ้า
        เส้นอ้างอิงบนท้องฟ้า เช่น เส้นกริดบอกพิกัดท้องฟ้า ซึ่งมีด้วยกัน 2 ระบบ คือ พิกัด Altazimuth (Alt/Azi) และ พิกัด Equatorial (RA/DEC) ให้เลือก  หรือ คลิก Z สำหรับเลือกแสดงพิกัด Altazimuth ซึ่งบอกพิกัดของวัตถุท้องฟ้าตามที่เรามองเห็น โดยบอกเป็นมุมในแนนราบ เริ่มวัดจากทิศเหนือหมุนไปทางทิศตะวันออก เรียกว่า “มุมอัลซิมุท” และมุมเงยจากขอบฟ้าขึ้นไป เรียกว่า “มุมอัลติจูด” ดังในภาพที่ 8
 
ภาพที่ 8 กริดระบบพิกัด Altazimuth (Alt/Azi)
 
        สำหรับระบบพิกัด Equatorial (RA/DEC) นั้น สามารถเลือกจาก  หรือ คลิก E ซึ่งเป็นระบบพิกัดสากลที่ใช้ระบุตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า ดังแสดงในภาพที่ 9
 
ภาพที่ 9 กริดระบบพิกัด Equatorial (RA/DEC)
 
        สำหรับเส้นอ้างอิงอื่นๆ เช่น เส้นสุริยะวิถี (Ecliptic) เส้นเมอริเดียน (Meridian) และเส้นศูนย์สูตรฟ้า (Equator) สามารถเลือกให้แสดงได้จากเครื่องมือ   ในแถบเครื่องมือแนวตั้ง หรือ กด F4 เพื่อเปิดหน้าต่าง View ดังแสดงในภาพที่ 10
 
ภาพที่ 10 เลือกหน้าต่าง View 
 
        จากนั้นเลือกแท็บ Markings ในส่วนของ Celestial Sphere สามารถเลือกให้แสดง เส้นสุริยวิถี (Ecliptic) เส้นเมอริเดียน (Meridian) หรือเส้นศูนย์สูตรฟ้า (Equator) ได้ตามต้องการ ตัวอย่างเส้นอ้างอิงทั้ง 3 แสดงในภาพที่ 11
ภาพที่ 11 แสดงเส้นสุริยวิถี เส้นเมอริเดียน และเส้นศูนย์สูตรฟ้า 
 
การแสดงเส้นลากและลักษณะของกลุ่มดาว
        กลุ่มดาวสามารถแสดงได้ 3 แบบ คือ แสดงเป็นเส้นลากเชื่อมต่อกันระหว่างดาว โดยคลิก C หรือเลือก 
ในแท็บเครื่องมือแนวนอน หรือจะเลือกแสดงเป็นรูปศิลป์เพื่อช่วยในการจิตนาการ โดยคลิก R หรือเลือก  ในแท็บเครื่องมือแนวนอนเช่นกัน ดังแสดงในภาพที่ 12 และ 13
 
ภาพที่ 12 เส้นเชื่อมกลุ่มดาว

ภาพที่ 13 กลุ่มดาวแบบเส้นลากเชื่อมต่อกันและภาพกลุ่มดาว
 
        หากต้องการเลือกแสดงกลุ่มดาวด้วยเส้นกำหนดขอบเขตของกลุ่มดาว (Boundary) ก็สามารถทำได้โดยเลือกที่  ในแถบเครื่องมือแนวตั้ง เลือกแท็บ Markings ในส่วนของ Constellations สามารถเลือก show boundaries ดังแสดงในภาพที่ 14 และ 15
 
ภาพที่ 14 เลือก Show boundaries จาก หน้าต่าง View
 
ภาพที่ 15 เส้นเชื่อมกลุ่มดาวและเส้นกำหนดขอบเขตของกลุ่มดาว
 
การแสดงชื่อกลุ่มดาว ชื่อดาวและวัตถุท้องฟ้าต่างๆ
        สำหรับการแสดงชื่อของกลุ่มดาวนั้นสามารถเลือกจากเครื่องมือ  ในแถบเครื่องมือแนวนอน หรือ คลิก V เพื่อแสดงชื่อกลุ่มดาว ดังแสดงในภาพที่ 16
 
ภาพที่ 16 ชื่อกลุ่มดาว

        ส่วนการแสดงชื่อของ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และวัตถุห้วงอวกาศลึกนั้น ซอฟต์แวร์จะตั้งค่าเริ่มต้นไว้สำหรับดาวที่มีความสว่างมากๆ ซึ่งเหมาะกับการสังเกตด้วยตาเปล่า หรือจะปรากฏชื่อเมื่อเราซูมภาพเข้าไปในบริเวณใกล้เคียง หากต้องการแสดงชื่อและตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างน้อยเหล่านี้ สามารถทำได้โดย เลือกที่เครื่องมือ   ในแถบเครื่องมือแนวตั้ง หรือ กด F4 เพื่อเปิดหน้าต่าง View จากนั้นเลือกแท็บ Sky ในส่วนของ Labels and Markers ให้เลื่อนแทบสไลด์ของกลุ่มวัตถุที่เราต้องการไปทางด้านขวา หากเลื่อนไปทางขวาสุด ชื่อของดาว วัตถุห้วงอวกาศลึก และวัตถุในระบบสุริยะ จะแสดงออกมาทั้งหมด ดังนั้นให้เราปรับเลื่อนแทบสไลด์ ให้แสดงชื่อของวัตถุออกมามากน้อยตามที่เราต้องการ ดังแสดงในภาพที่ 17 และ 18
 
ภาพที่ 17 ปรับการแสดงชื่อของดาว วัตถุห้วงอวกาศลึก และวัตถุในระบบสุริยะ
 

ภาพที่ 18 ชื่อและตำแหน่งวัตถุที่มีความสว่างน้อยปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นบนท้องฟ้า
 
การควบคุมด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด
        การควบคุมด้วยเมาส์ เราสามารถเลื่อนท้องฟ้าไปมาได้โดยการคลิกซ้ายค้างไว้แล้วลากเมาส์ไปตามทิศทางที่เราต้องการ ภาพของท้องฟ้าจะเลื่อนตามทิศทางที่เราลากเมาส์ไปมา สำหรับการซูมเข้า/ออกสามารถทำได้โดยหมุนล้อเมาส์ (Scroll wheel) โดยหมุนไปข้างหน้าหากต้องการซูมเข้าและหมุนกลับมาข้างหลังหากต้องการซูมออก ส่วนการเลือกวัตถุที่สนใจ สามารถคลิกซ้ายที่วัตถุที่ต้องการเลือกได้เลย หลักจากคลิกเลือกแล้วจะปรากฏสัญลักษณ์บริเวณวัตถุที่ถูกเลือก และปรากฏข้อมูลของวัตถุทางด้านซ้ายของจอ ดังแสดงในภาพที่ 19 เราสามารถปรับให้วัตถุที่เลือกเลื่อนมาอยู่กลางจอภาพด้วยการเคาะ Space Bar เพื่อตรึงวัตถุให้อยู่กลางหน้าจออัตโนมัติ และหากไม่ต้องการเลือกวัตถุดังกล่าวแล้วให้คลิกขวาเพื่อยกเลิกการเลือกวัตถุ
 
ภาพที่ 19 ข้อมูลของวัตถุทางด้านซ้าย

        การควบคุมด้วยคีย์บอร์ด เราสามารถเลื่อนการเคลื่อนที่ของท้องฟ้าด้วยการควบคุมผ่านคีย์บอร์ด ดังแสดงในตารางที่ 3
                            ตารางที่ 3 การควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยแป้นบนคีย์บอร์ด

 
การค้นหาวัตถุ
        การค้นหาวัตถุท้องฟ้านั้นสามารถทำได้โดยใช้เครื่องมือ   หรือ กด Ctrl+F เพื่อเปิดหน้าต่าง Find Object or Position ดังแสดงในภาพที่ 20
 
ภาพที่ 20 หน้าต่าง Find Object or Position
 

        ในแท็บ Object สามารถพิมพ์ชื่อวัตถุที่ต้องการหาได้เลย (พิมพ์ชื่อภาษาอังกฤษ) เช่น M42, Saturn หรือ C/2012 S1 หลังจากนั้นกด Enter วัตถุที่ค้นหาจะเลื่อนมาอยู่กลางหน้าจออัตโนมัติ โดยมีแถบข้อมูลปรากฏทางด้านซ้ายแบบเดียวกับการคลิกซ้ายเลือกวัตถุ