JSatTrak

        JSatTrak เป็นซอฟต์แวร์สำหรับใช้ติดตามดาวเทียม (Satellite tracking program) โดยสามารถระบุตำแหน่งของดาวเทียมได้ทั้งในเวลาปัจจุบันหรือช่วงเวลาใดก็ได้ที่เราต้องการ ซอฟต์แวร์นี้ถูกพัฒนาด้วยโปรแกรม JAVA โดย Shawn Gano ซึ่งนำเอาอัลกอริทึมของการระบุตำแหน่งดาวเทียมที่เรียกว่า SGP4/SDP4 ของ NASA/NORAD มาใช้ในการพัฒนา และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถดาวน์โหลดใช้ฟรีได้ที่ www.gano.name/shawn/JSatTrak/
 
ภาพที่ 1 ซอฟต์แวร์ JSatTrak

การดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์

        การดาวน์โหลดสามารถเข้าไปดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ได้ที่ www.gano.name/shawn/JSatTrak/ ดังแสดงในภาพที่ 2 เลือกดาวน์โหลดเวอร์ชันล่าสุด โดยในขณะนี้ถูกพัฒนามาจนถึงเวอร์ชัน 4.1.5 เพื่อรองรับ JAVA เวอร์ชัน 7 ไฟล์ที่ดาวน์โหลดได้จะอยู่ในรูป Zip ไฟล์ ซึ่งประกอบไปด้วยไฟล์ซอฟต์แวร์สำหรับระบบปฏิบัติการ Mac OS และ Windows สามารถดับเบิลคลิกเพื่อเริ่มใช้งานซอฟต์แวร์ได้ทันที โดยไม่ต้องทำการติดตั้งใดๆ ดังภาพที่ 3 และภาพที่ 4

ภาพที่ 2 เว็บไซด์ www.gano.name/shawn/JSatTrak/ สำหรับดาวน์โหลด JSatTrak     

ภาพที่ 3 เมื่อแตกไฟล์ Zip จะได้ไฟล์ซอฟต์แวร์สำหรับระบบปฏิบัติการ Mac OS และ Windows

ภาพที่ 4 ดับเบิลคลิกเพื่อ Run ซอฟต์แวร์ได้ทันที

ส่วนประกอบของซอฟต์แวร์ JSatTrak
        เมื่อเปิดใช้งานซอฟต์แวร์ JSatTrak ขึ้นมาครั้งแรก ซอฟต์แวร์จะแสดงตำแหน่งของสถานีอวกาศ ISS ซึ่งเป็นวัตถุที่ถูกตั้งไว้ให้แสดงเป็นค่าเริ่มต้น ส่วนประกอบของซอฟต์แวร์เมื่อเริ่มต้นใช้งานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แถบเครื่องมือหลัก หน้าต่างแสดงตำแหน่งของดาวเทียมเทียบกับพื้นโลกแบบ 2 มิติ (2D Earth Window) และหน้าต่างแสดงรายการดาวเทียมและตำแหน่งผู้สังเกตภาคพื้น (Object List) ดังแสดงในภาพที่ 5

 ภาพที่ 5 แสดงส่วนประกอบของซอฟต์แวร์เมื่อเริ่มเปิดใช้งานในครั้งแรก

        นอกจากส่วนประกอบหลักเหล่านี้ยังสามารถเพิ่มหน้าต่างแสดงมุมมองตำแหน่งดาวเทียมในรูปแบบ 3 มิติได้ โดยคลิกที่  บนแถบเครื่องมือ หน้าต่าง 3D Earth Window จะปรากฏขึ้นดังแสดงในภาพที่ 6

ภาพที่ 6 แสดงหน้าต่างมุมมองตำแหน่งดาวเทียมในรูปแบบ 3 มิติ

แถบเครื่องมือหลักของ JSatTrak

 การเพิ่มและลบรายการดาวเทียมที่สนใจ
        การเพิ่มรายการดาวเทียมที่สนใจเข้ามาในหน้าต่างแสดงรายการดาวเทียมและผู้สังเกตภาคพื้น (Object List) นั้น ทำได้โดยเลือกคลิก  ในแถบเครื่องมือหลัก หรือที่หน้าต่าง Object List ก็ได้ เพื่อเปิดใช้งานหน้าต่าง Satellite Browser ขึ้นมาดังแสดงในภาพที่ 7 ซึ่งจะแสดงรายการดาวเทียมแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามภารกิจของดาวเทียมแต่ละดวง
ภาพที่ 7 แสดงหน้าต่าง Satellite Browser เพื่อเลือกดาวเทียมที่สนใจ

        เลือกดาวเทียมที่ต้องการโดยคลิกเมาส์ซ้ายที่ชื่อดาวเทียมที่ต้องการค้างไว้ แล้วลากมาวางไว้ในหน้าต่าง Object List ดังแสดงในภาพที่ 8 ตำแหน่งของดาวเทียมที่เพิ่มเข้ามาจะปรากฏในหน้าต่างทั้งในแบบ 2 มิติ และ 3 มิติทันที ในกรณีที่เปิดหน้าต่างแสดงตำแหน่งแบบ 3 มิติเอาไว้ด้วย

ภาพที่ 8 แสดงการเพิ่มรายการดาวเทียมในหน้าต่าง Object List
   
        การเพิ่มรายการดาวเทียมในหน้าต่าง Object List โดยการลากชื่อดามเทียมมาจากหน้าต่าง Satellite Browser ส่วนการลบรายการดาวเทียมออกจากหน้าต่าง Object List นั้นสามารถทำได้โดยเลือกรายการดาวเทียมที่ต้องการลบ แล้วคลิกที่   เพื่อลบรายการดาวเทียมออกไป
 
การเพิ่มและลบรายการสถานีภาคพื้น (Ground Stations)
        การเพิ่มรายการสถานีภาคพื้นทำได้โดยคลิก  ในแถบเครื่องมือหลัก เพื่อเปิดใช้หน้าต่าง Ground Station Browser ดังแสดงในภาพที่ 9 แล้วคลิกปุ่มเครื่องหมายบวก เพื่อเพิ่มสถานีภาคพื้นตามพิกัดที่ต้องการ โดยในที่นี้ผู้เขียนทำการเพิ่มสถานีภาคพื้นชื่อ BKK พิกัดละติจูดที่ 13 องศาเหนือ และพิกัดลองจิจูดที่ 100 องศาตะวันออก แล้วคลิกปุ่ม OK รายการสถานีภาคพื้นที่ระบุเพิ่มขึ้นมาจะปรากฏอยู่ในรายการของหมวด Custom ดังแสดงในภาพที่ 10 จากนั้นทำการลากสถานีภาคพื้นที่กำหนดขึ้นไปยังหน้าต่าง Object List สถานีภาคพื้นที่กำหนดขึ้นก็จะปรากฏอยู่ในหน้าต่างแสดงตำแหน่งทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ทันที ในกรณีที่เปิดหน้าต่างแสดงตำแหน่งแบบ 3 มิติเอาไว้ด้วย ดังแสดงในภาพที่ 11
 
ภาพที่ 9 แสดงการเพิ่มรายการสถานีภาคพื้นตามพิกัดที่ต้องการ
 
ภาพที่ 10 แสดงการเพิ่มรายการสถานีภาคพื้นตามพิกัดที่ต้องการ
 
ภาพที่ 11 แสดงการลากรายการสถานีภาพพื้นจากหน้าต่าง Ground Station Browser
มายังหน้าต่าง Object List

การปรับปรุงข้อมูลวงโคจรล่าสุดของดาวเทียม
        ข้อมูลวงโคจรของดาวเทียมจะถูกระบุไว้ในรูปแบบของชุดข้อมูล 2 บรรทัด ที่เรียกว่า TLE (Two Line Element) ซึ่งจะมีการปรับปรุงข้อมูลอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นการปรับปรุงข้อมูลวงโคจรของดาวเทียมให้เป็นปัจจุบันเสมอก่อนการเริ่มใช้งาน JSatTrak จึงเป็นสิ่งสำคัญ ปกติแล้วสามารถเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูล TLE ของดาวเทียมได้ที่เว็บไซต์ http://celestrak.com แต่สำหรับ JSatTrak สามารถดาวน์โหลดข้อมูล TLE ได้โดยเลือก Utilities --> Update Satellite TLE Data ดังแสดงในภาพที่ 12 และ 13

ภาพที่ 12 เลือก Update Satellite TLE Data เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลวงโคจรล่าสุดของดาวเทียม

ภาพที่ 13 ข้อมูลวงโคจรกำลังถูกดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ http://celestrak.com

การคาดการณ์วันเวลาในการสังเกตการณ์ดาวเทียม
        นอกจากการแสดงตำแหน่งของดาวเทียม ลักษณะวงโคจร และตำแหน่งของสถานีภาคพื้นแล้ว JSatTrak ยังสามารถคาดการณ์วันและเวลาที่จะสามารถสังเกตการณ์ดาวเทียมที่สนใจได้อีกด้วย โดยในที่นี้ผู้เขียนต้องการทราบช่วงเวลาที่สามารถสังเกตสถานีอวกาศ ISS ที่กรุงเทพมหานคร วิธีการเริ่มจากเพิ่มรายการของสถานีอวกาศ ISS และสถานีภาคพื้น BKK มาไว้ในหน้าต่าง Object List จากนั้นเลือก Utilities --> Tracking Tool หรือ Ctrl+T ดังแสดงในภาพที่ 14 หน้าต่าง Tracking Tool จะปรากฏขึ้น ขยายหน้าต่างให้เต็มหน้าจอ สังเกตที่แท็บ Basic เลือกสถานีภาพพื้นและดาวเทียมที่ต้องการ ดังแสดงในภาพที่ 15

ภาพที่ 14 แสดงการลากรายการสถานีภาพพื้นจากหน้าต่าง Ground Station Browser

ภาพที่ 15 เลือกสถานีภาคพื้นและดาวเทียมที่ต้องการในแท็บ Basic

        จากนั้นเลือกที่แท็บ Pass Predictions ในช่อง Time Span ให้ระบุเป็น 30 วัน แล้วคลิกเลือก Visible Only จากนั้นคลิกปุ่ม Calculate จะแสดงรายการช่วงเวลาและทิศทางการขึ้น/ตกของสถานีอวกาศ ISS ที่สามารถสังเกตได้จากกรุงเทพมหานคร ดังแสดงในภาพที่ 16

ภาพที่ 16 แสดงขั้นตอนการใช้งานแท็บ Pass Predictions

        จากรายการที่ได้ในภาพที่ 16 พบว่าสามารถสังเกตสถานีอวกาศได้ทั้งหมด 6 วัน ในช่วง 30 วัน นับจากวันที่เริ่มคำนวณ วันแรกที่สามารถสังเกตได้คือ วันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2013 โดยสถานีอวกาศจะเริ่มขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศเหนือ (N) ในเวลา 18:30:54 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในตำแหน่งใกล้ด้านทิศตะวันออก (SE) ในเวลา 18:36:30 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย โดยปรากฏอยู่เหนือขอบฟ้านาน 335.8 วินาที ซึ่งสามารถใช้ซอฟต์แวร์ Stellarium ช่วยในการค้นหาตำแหน่ง เพื่อประกอบการเตรียมการสังเกตได้ดังแสดงในภาพที่ 17 โดยปรับตั้งตำแหน่งผู้สังเกต วันที่และเวลา ตามข้อมูลที่ได้จาก JSatTrak

ภาพที่ 17 แสดงตำแหน่งของสถานีอวกาศด้วยซอฟต์แวร์ Stellarium

Ċ
LESA,
22 เม.ย. 2563 06:42