แผนที่ดาววงกลม

        แผนที่ดาววงกลมเป็นอุปกรณ์อย่างง่าย ที่ช่วยในการวางแผนและสังเกตการณ์ท้องฟ้า  แผนที่ดาวชนิดนี้ประกอบด้วย แผ่นกระดาษสองแผ่น คือ แผ่นแผนที่ (แผ่นล่างและ แผ่นขอบฟ้า (แผ่นบนซ้อนกันอยู่ และยึดติดกันด้วยตาไก่ที่ตรงจุดศูนย์กลาง

ภาพที่ 1 แผ่นแผนที่ (แผ่นล่าง)

        แผ่นแผนที่ (ภาพที่ 1) มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ขั้วฟ้าเหนือ ดาวเหนืออยู่ตรงตาไก่พอดีตรงปลายหางของกลุ่มดาวหมีเล็ก เส้นทึบรูปวงกลมที่กึ่งกลางของรัศมีของแผนที่ดาวเป็นเส้นศูนย์สูตรฟ้า ภายในวงกลมเป็นซีกฟ้าเหนือ ภายนอกวงกลมเป็นซีกฟ้าใต้  ใกล้ๆ กับเส้นศูนย์สูตรฟ้ามีเส้นประรูปวงกลมเป็น เส้นสุริยวิถี กลุ่มดาวที่อยู่บนเส้นสุริยวิถีเป็นกลุ่มดาวจักราศี 12 กลุ่ม แถบสีเทาอ่อนรูปวงรีบนแผนที่ดาวแสดงตำแหน่งของทางช้างเผือก และที่ขอบของแผ่นแผนที่เป็นสเกล “ปฏิทิน” บอก “วันที่” และ “เดือน”

ภาพที่ 2  แผ่นขอบฟ้า (แผ่นบน)   


        แผ่นขอบฟ้า (ภาพที่ 2)เป็นแผ่นเจาะช่อง แสดงอาณาเขตของท้องฟ้า เส้นขอบฟ้า ทิศเหนือ (N), ตะวันออกเฉียงเหนือ  (NE), ตะวันออก (E), ตะวันออกเฉียงใต้ (SE), ใต้ (S), ตะวันตกเฉียงใต้ (SW), ตะวันตก (W), ตะวันตกเฉียงเหนือ (NW) ตามลำดับ  ที่ขอบของแผ่นท้องฟ้าเป็นสเกลนาฬิกา บอกเวลาเป็น ชั่วโมง และมีสเกลย่อยขีดละ 10 นาที 

ภาพที่ 3  แผนที่ดาววงกลม (หากมองไม่เห็นดาวน์โหลด Flash Player

[ดาวน์โหลดแผนที่ดาว คลิกไฟล์แนบด้านล่าง]

วิธีการใช้งาน: 

        ตั้งเวลาที่จะสังเกตการณ์ โดยหมุนเวลา (นาฬิกา) ที่ขอบแผ่นขอบฟ้า ให้ตรงวันเดือนปี (ปฏิทิน) ที่ขอบแผ่นแผนที่ ตัวอย่างเช่น ต้องการดูดาวในเวลา 05.00 . ของวันที่ 5 เดือนมกราคม ก็ให้หมุนแผ่นขอบฟ้ามาจนกระทั่งเวลา 05.00 ตรงกับวันที่เดือนมกราคม ของแผ่นแผนที่ จับแผนที่ดาวแหงนขึ้น โดยให้ทิศเหนือและทิศใต้บนแผนที่ดาว ชี้ตรงกับทิศเหนือและทิศใต้ของภูมิประเทศจริง ควรระลึกไว้เสมอว่า การอ่านแผนที่ดาวมิใช่การก้มอ่านหนังสือ แต่เป็นการแหงนขึ้นดู เพื่อเปรียบเทียบท้องฟ้าในแผนที่กับท้องฟ้าจริง  เมื่อเวลาเปลี่ยนไปให้หมุนแผ่นขอบฟ้า (แผ่นบน) ในทิศตามเข็มนาฬิกา ไปยังเวลาปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า กลุ่มดาวทางทิศตะวันออกของแผนที่ จะเคลื่อนที่ห่างจากขอบฟ้า (E) มากขึ้น  ในขณะที่กลุ่มดาวในทิศตะวันตก จะเคลื่อนที่เข้าหาขอบฟ้า (W) เสมือนการเคลื่อนที่ ขึ้น ตก ของดาวบนท้องฟ้าจริง 
        จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะหมุนแผ่นขอบฟ้าไปอย่างไรก็ตาม เส้นศูนย์สูตรฟ้าจะอยู่ตรงแนวทิศตะวันออก (E) และตะวันตก (W) เสมอ เพราะนั่นคือเส้นแบ่งซีกท้องฟ้า และเส้นสุริยวิถีตรงกลุ่มดาวคนคู่ จะอยู่ค่อนไปทางเหนือ (โซลสติสฤดูร้อน) และเส้นสุริยวิถีตรงกลุ่มดาวคนยิงธนู จะอยู่ค่อนไปทางใต้ (โซลส์ติซฤดูหนาว) วงกลมทั้งสองเอียงตัดกันเป็นมุม 23.5° เนื่องเพราะแกนของโลกเอียงขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์

ข้อพึงระวัง:  แผนที่ดาวแบบวงกลมนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากสร้างขึ้นโดยการตีแผ่ทรงกลม ออกเป็นระนาบสองมิติ (360° projection) ทำให้ระยะทางเชิงมุมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

- กลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือจะมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง และกลุ่มดาวในซีกฟ้าใต้จะขยายถ่าง  
  เกินสัดส่วนจริง ดังนั้นถ้าหากใช้แผนที่ดาวนี้ดูดาวที่อยู่ใกล้ขอบฟ้าใต้  ขอแนะนำให้ดูดาวสว่าง
  เป็นดวงๆ แล้วค่อยไล่เปรียบเทียบไปกับท้องฟ้าจริง 

- ตำแหน่งบอกทิศทั้งแปด มิได้ห่างเท่าๆ กัน สเกลระหว่างทิศเหนือ (N) ไปยังทิศตะวัน
  ออก (E) และทิศตะวันตก (W) จะอยู่ใกล้ชิดกันมาก ส่วนสเกลไปทางทิศใต้ (S) จะมีระยะ
  ห่างออกไป กว้างกว่าหลายเท่า 
- หากหันหน้าดูดาวทางทิศเหนือ ให้หันเอาด้านอักษร N ลง 

- หากหันหน้าดูดาวทางทิศใต้ ให้หันกลับด้านเอาอักษร S ลง 

- หากหันหน้าไปทางทิศอื่น ให้พยายามตรึงแนว N – S ให้ขนานกับทิศเหนือ – ใต้ ของ
  ภูมิประเทศจริงไว้ตลอดเวลา

หมายเหตุ:  แผนที่ดาววงกลมนี้ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้ ณ บริเวณใกล้กับละติจูด 15° N เช่น ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้ ณ ละติจูดอื่นๆ ของประเทศไทย มิได้แตกต่างไปจากท้องฟ้าจริงมากนัก

หน้าเว็บย่อย (1): ประดิษฐ์แผนที่ดาว