ความเป็นมา

พ.ศ.2538
        ในช่วงปี 2537 - 2538 มีปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจหลายอย่างเกิดขึ้น อาทิ ดาวหาง Shoemaker - Levy 9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดี  และ สุริยุปราคาเต็มดวง   นาวาอากาศตรีฐากูร เกิดแก้ว มีดำริว่า กรุงเทพมหานครมีประชากรหลายล้านคน แต่ไม่มีหอดูดาวสำหรับบริการประชาชน (ประเทศไทยเวลานั้นมีหอดูดาวอยู่เพียงแห่งเดียวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จึงวางแผนสร้างหอดูดาวเอกชนขึ้นทางตอนเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่ชนบทไร้แสงรบกวน และไม่ไกลจาก กทม. 

พ.ศ.2539 
       หอดูดาวเกิดแก้วถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 805 ไร่ ในเขต ต.ยางสูง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องโลกและอวกาศ ปลูกฝังความรักธรรมชาติแก่เยาวชน บนความเชื่อว่า "ความงดงามแห่งห้วงจักรวาล สามารถปลุกจิตสำนึกของมนุษย์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เพื่อที่พวกเขาจะอยู่ร่วมกันโดยสันติ และปฏิบัติต่อสรรพสิ่งอย่างสร้างสรรค์"  เปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2539 

  

พ.ศ.2545 
        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนทุนให้หอดูดาวเกิดแก้ว พัฒนาชุดต้นแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA: Learning model on Earth Science and Astronomy) ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรการศึกษา พุทธศักราช 2544  ชุดการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นไฟล์อีเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตและแผ่นซีดี โดยอนุญาตให้ครูนำไปดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับหลักสูตรของโรงเรียน และประดิษฐ์เป็นสื่อและอุปกรณ์ ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริง

  

พ.ศ.2546 
        สกว.สนับสนุนทุนให้หอดูดาวเกิดแก้วจัดทำโครงการ “การเรียนรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์กับสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ” (LESA WS: LEarning to be Scientists with Automatic Weather Stations) ฝึกนักเรียนทำงานวิจัยสภาพลมฟ้าอากาศ โดยติดตั้งสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติไว้ในแต่ละภูมิภาค แล้วให้นักเรียนศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลหาความสัมพันธ์ของตัวแปรสภาพอากาศ ต่อมาได้ทำบันทึกความร่วมมือกับ NASA CloudSat ฝึกนักเรียนตรวจวัดและเก็บข้อมูลเพื่อสร้างแบบจำลองความสัมพันธ์ของระบบ บรรยากาศ – พืช - ดิน (BasicGAPS: General Purpose Simulation Model of the Atmosphere - Plant - Soil System) เพื่อพยากรณ์ปริมาณน้ำในดิน  

  

พ.ศ.2548 
        ชุดต้นแบบการเรียนรู้ LESA ได้รับความนิยมมาก มีโรงเรียนเครือข่ายทั่วประเทศมากกว่า 300 แห่ง นำไปใช้งาน  สกว.จึงสนับสนุนทุนให้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์” (LESA: Learning center for Earth Science and Astronomy) รวมทั้งจัดให้มีกิจกรรมบูรณาการภูมิปัญญาไทยและเทคโนโลยีเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (MONGKUT: The Macro Observation Network of Global-radius for K-12 Utilizing information Technology) เปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้ทำกิจกรรมวัดเส้นผ่านศูนย์กลางโลกร่วมกัน ต่อมาได้ขยายเครือข่ายไปยังประเทศนิวซีแลนด์  

  

พ.ศ.2549 
        เปิดศูนย์ดาราศาสตร์อิสลาม (Islamic Astronomical Center: IAC) สร้างแหล่งความรู้ดาราศาสตร์เพื่อบูรณาการกับกิจกรรมทางศาสนา สำหรับครูและนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2549

  

        สกว.ทำบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549   Prof.Carl W. Akerlof หัวหน้าโครงการ Robot Optical Transient Search Experiment (ROTSE) สนับสนุนข้อมูลจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติซึ่งติดตั้งไว้ 4 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา นามิเบีย ตุรกี และออสเตรเลีย ให้ LESA นำไปฝึกอบนักเรียนทำงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์  รวมทั้งสนับสนุนการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ ROTSE นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการครุวิจัย และยุววิจัย ณ หอดูดาวเกิดแก้ว ในช่วงปิดเทอมเดือนเมษายน ในปี 2549 - 2552 

พ.ศ.2550 
        Prof.Steve Larson หัวหน้าโครงการ Catalina Sky Survey มหาวิทยาลัยอริโซนา สนับสนุนข้อมูลภาพถ่าย All sky survey เพื่อให้นักเรียนทำงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์  ในปีเดียวกัน สกว.สนับสนุนทุนวิจัย โครงการครุวิจัย-ดาราศาสตร์ ให้ LESA ทำการฝึกอบรมครูทำงานวิจัย และประดิษฐ์สื่อการเรียนรู้ ณ หอดูดาวเกิดแก้ว 

   

พ.ศ.2551
        สกว.ทำบันทึกความร่วมมือกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์โลก” พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์สังเกตการณ์ภาวะแวดล้อมโลก ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นซึ่งอาจนำมาซึ่งภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ได้ฝึกนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรและพี่เลี้ยงในการฝึกอบรมยุววิจัย และจัดกิจกรรมบริการวิชาการแก่สาธารณชน  

   

        Dr.Michael Boer ผู้อำนวยการหอดูดาว Observatoire de Haute-Provence (OHP) ประเทศฝรั่งเศส สนับสนุนข้อมูลสเปคตรัมและจัดผู้เชี่ยวชาญฝึกสอนยุววิจัย LESA  

  

        คัดเลือกนักเรียนยุววิจัยที่มีผลงานดีเด่น ไปนำเสนองานวิจัยในการประชุม Junior Session of the Astronomical Society of Japan เป็นประจำทุกปี

  

พ.ศ.2552 
        นับเป็นปีแรกที่เริ่มจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนไทย-กัมพูชา โดยบูรณาการความรู้ด้านดาราศาสตร์กับศาสนาและวัฒนธรรม โดยนำความรู้เรื่องการส่ายของแกนโลก (Earth Precession) มาประยุกต์ให้นักเรียนตรวจวัดทิศทางการวางตัวของปราสาท (ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา) เพื่อหาความแตกต่างของทิศเหนือในยุคที่สร้างปราสาทกับทิศเหนือปัจจุบัน เพื่อนำมุมที่แตกต่างมาคำนวณหาอายุของปราสาท 

   

พ.ศ.2553
        จัดตั้งศูนย์สังเกตการณ์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อฝึกอบรมยุววิจัยทั่วประเทศ ในหกสาขา ได้แก่ ยุววิจัยรีโมตเซนซิง ยุววิจัยบรรยากาศ ยุววิจัยน้ำ ยุววิจัยชายฝั่ง ยุววิจัยธรณีวิทยา ยุววิจัยดาราศาสตร์ และพัฒนาชุดต้นแบบบทเรียนออนไลน์ วิชาดาราศาสตร์ขั้นนำ และวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพสำหรับครู เพื่อใช้สอนนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

   

พ.ศ.2554
        ร่วมมือกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับปรุงบทเรียนออนไลน์บนเว็บไซต์ lesa.biz และพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ iAstro และ iEarth เปิดโอกาสให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่สนใจได้ศึกษาดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์โลก โดยระบบการศึกษาทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต  

    

พ.ศ.2556 
        ร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่น จัดกิจกรรมดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เสริมสร้างความรู้ดาราศาสตร์อิสลาม (Al-Farak) ให้อุสตาส ครู และเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นประจำทุกปี  

   

พ.ศ.2557 
        ร่วมการประชุม Asia-Pacific Regional Space Agency (APRSAF) และเป็นเครือข่าย Asia-Pacific Asteroid Observation Network (APAON) กับ องค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) 

  

พ.ศ.2559
        ร่วมการประชุม Advanced Maui Optical and Space Surveillance Technologies Conference (AMOS) ณ เมืองไวเลีย  เกาะมาวอี รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา  นับเป็นจุดเริ่มต้นของ LESA ในด้านปฏิบัติการเฝ้าระวังอวกาศ หรือ Space Situational Awareness (SSA) ในระดับนานาชาติ 

   

พ.ศ.2560
        ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ อพวช.สวทช., GISTDA, โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช จัดการกิจกรรม CanSat Thailand 2017 ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกตัวแทนนักเรียนไทยไปแข่งขัน CanSat ในเวทีนานาชาติ 

   

พ.ศ.2561 
        เจรจากับองค์การอวกาศรัสเซีย ROSCOSMOS ขอนำนักเรียนไทยไปร่วมกิจกรรม ROSCANSAT ภายใต้การสนับสนุนของ อพวช.; และติดตั้ง CanSat บนจรวดดัดแปรสภาพอากาศของ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เพื่อศึกษาวิถีการเคลื่อนที่ของจรวด 

   

พ.ศ.2562
        ประสานความร่วมมือด้าน Space Situational Awareness & Space Traffic Management ในการประชุม US - Thailand Birateral Space Dialogue ซึ่งมี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นเลขานุการ 

   
พ.ศ.2564
        เพื่อให้ LESA เป็นรูปธรรม มีสังกัดของตนเองในลักษณะ Self support จึงจดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิอาณาสยาม" (Siam Archives Foundation) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 รายละเอียดที่เว็บไซต์ siamachives.or.th