บรมยุคทั้งสาม

        นักธรณีวิทยาแบ่งเวลา นับตั้งแต่โลกเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็น 3 บรมยุค (Eon) ดังภาพที่ 1 ได้แก่ 
    • อาร์คีโอโซอิค (Archaeozoic) เป็นบรมยุคเริ่มแรก สิ่งมีชีวิตในยุคนั้นเป็นเซลล์โพคารีโอตไม่มีนิวเคลียส 
    • โพรเทอโรโซอิค (Proterozoic) เป็นบรมยุคที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและมีเซลล์ยูคารีโอต
    • ฟาเนอโรโซอิก (Phanerozoic) เป็นบรมยุคที่มีสิ่งมีชีวิตแพร่พลายอยู่ทั่วไปและมีฟอสซิลให้เห็นเป็นหลักฐานอย่างชัดเจน 
ภาพที่ 1 สามบรมยุค
        

บรมยุคอาร์คีโอโซอิค (Archaeozoic eon)
        นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่โลกก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 4,600  ล้านปีก่อนจนถึง 2,500 พันล้านปีก่อน พื้นผิวโลกในช่วงนั้นร้อนละอุไปด้วยภูเขาไฟและธารลาวา อุกกาบาตซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อยและดาวหางพุ่งชนโลก บรรยากาศเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งพ่นออกมาจากปล่องภูเขาไฟทำให้พื้นผิวโลกมีสภาพเป็นภาวะเรือนกระจก สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นเซลล์โพรคาริโอต ไม่มีนิวเคลียส อาศัยธาตุอาหารจากสารเคมีที่ปล่อยมาจากปล่อยภูเขาไฟและน้ำพุร้อนใต้มหาสมุทร วิวัฒนาการของโลกในบรมยุคอาร์คีโอโซอิคมีดังนี้ 
  • 4,600 ล้านปีก่อน ฝุ่นแก๊สและอนุภาคต่างๆ ในโซลาร์เนบิวลา (Solar nebula) รวมตัวกันเป็นดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ทั้งหลาย พื้นผิวของโลกในยุคแรกร้อนมากมีสถานะเป็นของเหลว บรรยากาศหนาแน่นไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไอน้ำที่ปล่อยออกจากปล่องภูเขาไฟ
  • 4,200 ล้านปีก่อน เปลือกโลกเย็นตัวลงและเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง ไอน้ำในบรรยากาศควบแน่นเป็นฝนและละลายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่พื้นผิว  
  • 4,000 ล้านปีก่อน กำเนิดโมเลกุลของสิ่งมีชีวิต (RNA)    
  • 3,800 ล้านปีก่อน หินตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่เกาะกรีนแลนด์
  • 3,500 ล้านปีก่อน กำเนิดเซลล์โพรคารีโอต (Prokaryotic cell) ไม่มีนิวเคลียส 
  • 3,400 ล้านปีก่อน น้ำฝนที่ตกขังบนแอ่งที่ราบไหลรวมตัวกันกลายเป็นทะเล สิ่งมีชีวิตเช่น แบคทีเรียสีเขียว (Cyanobacteria) และสโตรมาโทไลต์ (Stromatolites) สร้างคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ตรึงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาสร้างอาหารด้วยการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) แล้วปล่อยแก๊สออกซิเจนขึ้นสู่บรรยากาศ 
  • 2,600 ล้านปี ปริมาณน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน



ภาพที่ 2 แบคทีเรียสีเขียว



บรมยุคโพรเทอโรโซอิก (Proterozoic eon)

        คือช่วงเวลาตั้งแต่ 2,500 - 545 ล้านปีก่อน โลกเย็นตัวลงจนมียุคน้ำแข็งเกิดขึ้นสลับกันไปทุกๆ หลายร้อยล้านปี เปลือกโลกมีการผุพังและสึกกร่อนจนเกิดตะกอน ทำให้ชายฝั่งทะเลตื้นเขิน สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแพร่พันธุ์ทวีปริมาณเพิ่มขึ้นจนต้องวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนบก 

  • 2,500 ล้านปีก่อน เกิดเซลล์ยูคารีโอต (Eukaryotic cells) ซึ่งมีนิวเคลียสและโครงสร้างซับซ้อน
  • 2,000 ล้านปีก่อน แก๊สออกซิเจนที่ปล่อยจากสิ่งมีชีวิตลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ และดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเล็ต แปรสภาพเป็นแก๊สโอโซน
  • 1,800 ล้านปีก่อน เกิดการแบ่งเพศของสิ่งมีชีวิต 
  • 1,400 ล้านปีก่อน เกิดสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
  • 1,000 ล้านปีก่อน ปริมาณแก๊สออกซิเจนเท่ากับร้อยละ 18 ของปัจจุบัน โอโซนในชั้นสโตสเฟียร์ห่อหุ้มโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตเริ่มอพยพขึ้นมาอยู่บนบกได้อย่างปลอดภัย  


ภาพที่ 3 การเพิ่มขึ้นของออกซิเจนในบรรยากาศ


บรมยุคฟาเนอโรโซอิก (Phanerozoic eon)

        นับตั้งแต่ 545 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ทั้งในมหาสมุทรและบนแผ่นดิน บรมยุคฟาเนอโรโซอิกแบ่งย่อยออกเป็น 3 มหายุค (Era) ดังนี้ 

  • พาเลโอโซอิก (Palaeozoic era) คือช่วง 545 – 245 ล้านปีก่อน เป็นมหายุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งในมหาสมุทรและบนบก 

  • เมโสโซอิก (Mesozoic era) คือช่วง 245 – 65 ล้านปีก่อน เป็นมหายุคของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกไดโนเสาร์ 

  • เซโนโซอิก (Cenozoic era) คือช่วง 65 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เป็นมหายุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม