การตรวจอากาศ

        ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่ตรวจวัดเพื่อการพยากรณ์อากาศ ได้แก่ ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งสถานีอุตุนิยมวิทยาแต่ละแห่งจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ทำการตรวจวัด ดังนี้ 
1. ความกดอากาศ ตรวจวัดด้วยบารอมิเตอร์ (Barometer)
2. ลม ตรวจวัดด้วยเครื่องวัดทิศทางลม (Wind vane) และเครื่องวัดความเร็วลม (Anemometer) 
3. อุณหภูมิอากาศ ตรวจวัดด้วยเทอร์มอมิเตอร์ชนิดสูงสุดต่ำสุด (Max-min thermometer)
4. ความชื้นสัมพัทธ์ ตรวจวัดด้วยไฮโกรมิเตอร์ชนิดกระเปาะเปียกกระเปาะแห้ง (Wet dry bulb hygrometer)​ 
5. ชนิดและปริมาณเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้า ตรวจวัดด้วยสายตา เรดาร์ และดาวเทียม  
6. หยาดน้ำฟ้า ตรวจวัดด้วยอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน 
7. ทัศนวิสัย ตรวจวัดด้วยสายตา 

ภาพที่ 1 เครือข่ายตรวจอากาศ


        เครื่องมือที่ใช้ในระบบการพยากรณ์อากาศสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้ 
  • เครื่องมือตรวจอากาศผิวพื้น 
            สถานีอุตุนิยมวิทยาแต่ละแห่งจะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอากาศผิวพื้นตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยจะทำการตรวจวัดอากาศตามเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน ซึ่งจะมีเวลาหลักของการตรวจวัด คือ 07.00 น. (00.00 UTC) และเวลา 19.00 น. (12.00 UTC) โดยในระหว่างเวลาหลักเหล่านี้ อาจมีการตรวจวัดเพิ่มเติมได้ตามที่กำหนดไว้เพื่อความเหมาะสม 

  • เครื่องมือตรวจอากาศชั้นบน 
            เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศบนพื้นผิว มีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศชั้นบนของโทรโพสเฟียร์ โดยใช้บอลลูนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจอากาศซึ่งได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น  และข้อมูลซึ่งรายงานโดยนักบิน ได้แก่ ทัศนวิสัย อุณหภูมิ ทิศทางและความเร็วลม ปริมาณและชนิดเมฆ 

  • เครื่องมือตรวจอากาศพิเศษ 
            เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจวัดปรากฏการณ์หรือลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเสริมในการวิเคราะห์พยากรณ์อากาศ ได้แก่ เรดาร์ตรวจอากาศ และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา 
        ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือตรวจอากาศทั้งบนพื้นดิน พื้นน้ำ ในอากาศและอวกาศ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการพยากรณ์อากาศ ในระบบเครือข่าย ดังเช่นในภาพที่ 1