หมอก

        หมอก (Fog) เกิดจากไอน้ำเปลี่ยนสถานะควบแน่นเป็นหยดน้ำเล็กๆ เช่นเดียวกับเมฆ  เมฆเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเนื่องจากการยกตัวของกลุ่มอากาศ แต่หมอกเกิดขึ้นจากความเย็นของพื้นผิว หรือการเพิ่มปริมาณไอน้ำในอากาศ หมอกสามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ตัวอย่างดังนี้
  • ในวันที่มีอากาศชื้นและท้องฟ้าใส พอตกกลางคืนพื้นดินจะเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ไอน้ำในอากาศท่ีอยู่เหนือพื้นดินควบแน่นเป็นหยดน้ำ หมอกซึ่งเกิดขึ้นโดยวิธีนี้มีอุณหภูมิต่ำและมีความหนาแน่นสูง เคลื่อนตัวลงสู่ที่ต่ำ และมีอยู่อย่างหนาแน่นในหุบเหว ตัวอย่างเช่น ทะเลหมอก ดังภาพที่ 1


    ภาพที่ 1 ทะเลหมอก

  • เมื่อมวลอากาศอุ่นที่มีความชื้นสูงปะทะกับพื้นผิวที่มีความหนาวเย็น เช่น ผิวน้ำในทะเลสาบ อากาศจะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ (ลักษณะเช่นเดียวกับหยดน้ำซึ่งเกาะอยู่รอบแก้วน้ำแข็ง) เรามองเห็นเป็นควันสีขาวลอยขึ้นเหนือพื้นน้ำ   

  • เมื่ออากาศร้อนซึ่งมีความชื้นสูง ปะทะกับอากาศเย็นซึ่งอยู่ข้างบน แล้วควบแน่นเป็นหยดน้ำ เช่น เวลาหลังฝนตก ไอน้ำที่ระเหยขึ้นจากพื้นถนนซึ่งร้อน ปะทะกับอากาศเย็นซึ่งอยู่ข้างบน แล้วควบแน่นกลายเป็นหมอก (ลักษณะเช่นเดียวกับการควบแน่นของไอน้ำจากลมหายใจปะทะกับอากาศเย็นของฤดูหนาว) เรามองเห็นเป็นควันสีขาวลอยขึ้นจากพื้นถนน 

ข้อแตกต่างระหว่างหมอกกับละอองอากาศ 
        หมอกเป็นปรากฎการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากไอน้ำควบแน่นเป็นหยดน้ำในลักษณะเดียวกับเมฆ  แตกต่างจากละอองอากาศ (Aerosols) ซึ่งเป็นมวลอนุภาคขนาดเล็กที่แขวนลอยในอากาศ เช่น ฝุ่น เกษรดอกไม้ ไอเกลือทะเล เขม่าควัน  ละอองอากาศทุกชนิดมีสถานะเป็นของแข็ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการควบแน่นของน้ำ  แต่ละอองอากาศทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางแสง ซึ่งมองเห็นเป็นฝ้าบางๆ คล้ายหมอกแต่มีสีคล้ำสกปรก ตัวอย่างปรากฎการณ์ของละอองอากาศที่ควรรู้จัก ได้แก่ 
  • หมอกแดด (Haze) เป็นฝุ่นละอองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟ้าหลัว คือ แสงอาทิตย์ส่องสว่างไม่เต็มที่เนื่องจากมีอนุภาคฝุ่นในบรรยากาศเป็นอุปสรรคขวางกั้นทางเดินของแสง หมอกแดดมักเกิดขึ้นในวันที่มีอุณหภูมิสูงและมีความกดอากาศต่ำ อากาศร้อนเหนือพื้นดินยกตัว พาให้ฝุ่นและอนุภาคบนพื้นดินลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังในภาพที่ 2

    ภาพที่ 2 หมอกแดด ซึ่งเกิดจากละอองอากาศ 

  • หมอกควัน (Smog) เป็นมลภาวะซึ่งเกิิดจากการสันดาปเชื้อเพลิงฟอสซิลในเครื่องจักรกลและโรงงาน  มักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่  และนิคมอุตสากรรมต่างๆ รวมทั้งการเผาป่าและพื้นที่เกษตรกรรม  คำว่า Smog เกิดจากการนำคำว่า "Smoke" ซึ่งแปลว่าควัน และคำว่า "Fog" ซึ่งแปลว่าหมอก มาเรียงผสมกัน

    ภาพที่ 3 หมอกควันซึ่งเกิดขึ้นจากโรงงาน